ในยุคของข้อมูลข่าวสารที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วบนสื่อโซเชียล ทำให้มีโฆษณาในสื่อออนไลน์ที่หลากหลาย เพราะเป็นช่องทางการเผยแพร่ที่สะดวก ง่าย และมีค่าใช้จ่ายน้อย ซึ่งบางครั้งเราอาจพบเห็นโฆษณาที่มีลักษณะเกินจริง
อิทธิพลของสื่อโฆษณาเกี่ยวกับสุขภาพ
1. ด้านสุขภาพร่างกาย
ผลของการเลือกรับสื่อโฆษณาเกี่ยวกับสุขภาพทางกาย จากการที่ผู้ผลิตได้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันโดยมีการทำให้สินค้าของตนที่ผลิตออกมามีคุณภาพและราคาถูก ย่อมเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในการเลือกพิจารณาได้หลากหลาย และสามารถเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ ดังนั้นสื่อโฆษณาจึงมีอิทธิพลให้คนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของผู้บริโภคโดยตรง
2. ด้านสุขภาพจิต
ผลของการเลือกรับสื่อโฆษณาเกี่ยวกับสุขภาพจิต คือ ความรู้สึกพึงพอใจและความไม่พึงพอใจในการบริโภคสินค้าและบริการเกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ มีผลอย่างยิ่งต่อสุขภาพจิตของผู้บริโภค เช่น มีการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติเป็นจริงตามคำโฆษณาย่อมส่งผลให้เกิดความพึงพอใจ ส่วนสินค้าและบริการต่างๆ ที่ผู้บริโภคเลือกใช้มีคุณภาพไม่เป็นจริงตามที่ผู้ผลิตโฆษณา ส่งผลเสียหายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ย่อมทำให้เกิดความไม่พึงพอใจในสินค้าและบริการต่างๆ
3. ด้านสุขภาพสังคม
สื่อที่มีความสร้างสรรค์จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในทางที่พึงประสงค์ในขณะที่สื่อที่นำเสนอพฤติกรรมสุขภาพที่ไมเหมาะสม แต่พยายามนำเสนอว่าเป็นค่านิยมของสังคมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในทางที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การโฆษณาอาหารประเภทจานด่วน ซึ่งเป็นอาหารที่มีการแข่งขันในการโฆษณาที่สูงมากทั้งที่อาหารเหล่านี้มีปริมาณแคลอรีสูงและมีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในปริมาณต่ำ เด็กหรือเยาวชนที่รับประทานอาหารเหล่านี้มากๆ จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคมะเร็งบางชนิดในช่วงชีวิตต่อไป
4. ด้านสุขภาพปัญญา
สื่อโฆษณามีอิทธิพลต่อสุขภาพทางปัญญา เพราะมีสื่อโฆษณาจำนวนมากที่ใช้กลวิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์จูงใจผู้บริโภคให้มีความต้องการสินค้า ส่งเสริมค้านิยมหรือแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เป็นวัตถุนิยมแทนที่จะเป็นการใช้ชีวิตแบบพอเพียง เช่น การที่เราจะซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งเราจะต้องตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลที่เหมะสมว่าสมควรซื้อหรือไม่ ความรู้จักพอประมาณคือซื้อในจำนวนเท่าที่จำเป็น ในราคาที่เหมาะสม การมีภูมิคุ้มกันคือ การมีสติสัมปชัญญะก่อนการตัดสินใจซื้อ ไม่หลงใหลหรือตกเป็นเหยื่อของคำโฆษณา หรือสิ่งจูงใจใดๆ ที่ผู้จำหน่ายนำมาส่งเสริมการขาย
เกร็ดความรู้
สำหรับบทลงโทษตามกฎหมาย การโฆษณาผ่านเว็บไซต์โดยอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือใช้ข้อความอันเป็นเท็จ โฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภค ถือเป็นการกระทำผิด พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค เรื่องแนวทางการโฆษณาสินค้าฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย กรณีสินค้าไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขจดแจ้ง อย. โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และกรณีผลิตภัณฑ์ใส่สารต้องห้าม ไมปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีโทษจำคุก 5 ปี
ตัวอย่างโฆษณาชวนให้เชื่อ



อ้างอิง
ธิดารัตน์ ไพรวัลย์ “พิษจากสื่อ” สืบค้นจาก https://sites.google.com/site/ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563
Comments are closed.