การระบุปัญหา

0
1437

ในรายวิชาการออกแบบและเทคโนโลยี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 นั้น นักเรียนได้เรียนเรื่องของการออกแบบเชิงวิศวกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ทำให้การระบุปัญหาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานมีความชัดเจน การรวบรวมข้อมูลทำได้ครอบคลุมตรงประเด็น มีการวิเคราะห์และเปรียบเทียบทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหา มีการออกแบบเพื่อช่วยสื่อสารให้ผู้ปฏิบัติงานด้วยกันเข้าใจตรงกัน และยังมีการทดสอบเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

นักเรียนทราบแล้วว่าเราสามารถใช้คำถาม 5W 1H ในการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและช่วยให้ได้ข้อมูลที่นำไปสู่การกำหนดกรอบของปัญหามาแล้ว เรายังมีเครื่องมืออีกแบบหนึ่งที่ช่วยในการวิเคราะห์กระบวนการทำงานเพื่อหาจุดที่เป็นปัญหาเพื่อลดความสูญเสียหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วยนั่นคือ แนวคิดแบบลีน (Lean Thinking)


แนวคิดแบบลีน (Lean Thinking)

แนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) คือ แนวทางที่จะขจัดความสิ้นเปลืองและสูญเปล่า (Wastes) ของทุกกิจกรรม และกระบวนการดำเนินงานที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่า โดยการทำให้ต้นทุนต่ำลง และจัดเรียงทุกๆ กิจกรรมที่สร้างคุณค่า (Value) ให้กับผลิตภัณฑ์ ให้มีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุด เพื่อสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าโดยการใช้ทรัพยากรอย่างจำกัด ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยมีทั้งหมด8 ประการ ดังนี้

Defect – มีของเสียมากเกินไป ต้นทุนสูญเปล่า และเกิดการซ่อมแซมแก้ไข

Over production – ผลิตสินค้ามากเกินไป เปลืองที่จัดเก็บและงบประมาณ

Waiting – รอนานเกินไป ทำให้กระบวนการทำงานหยุดชะงัก

None utilized talent – ไม่รับฟังความเห็นพนักงาน ใช้คนไม่เป็น

Transportation – ขนย้ายบ่อย ต้องใช้กำลังคนและเวลา

Inventory – สินค้าคงคลังมากเกินไป สินค้าไม่ถึงมือลูกค้า

Motion – การเคลื่อนไหวมากเกินไป อาจเกิดความเสียหาย

Excess processing – ขั้นตอนการทำงานมากเกินความจำเป็น


การสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์ คือ การสื่อสารระหว่างบุคคลซึ่งแตกต่างจากการสนทนา โดยทั่วๆ ไป เพราะการสัมภาษณ์จะต้องมีจุดมุ่งหมาย ต้องเตรียมคำถามและติดต่อกับผู้ให้สัมภาษณ์ โดยมีกำหนดเวลาที่แน่นอน

รูปแบบการสัมภาษณ์ แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

1. การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ เป็นการสัมภาษณ์ความคิดเห็นทั่วๆ ไป เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ การสัมภาษณ์แบบนี้ไม่ต้องเตรียมการมากนัก เพียงแต่เตรียมจุดประสงค์ของการสัมภาษณ์และคำถามไว้ล่วงหน้าเท่านั้น

2. การสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ การสัมภาษณ์แบบนี้มีหลักเกณฑ์มากกว่าแบบแรกคือ ผู้สัมภาษณ์จะต้องเตรียมสถานที่ นัดวัน เวลา ไปพบ หรือเชิญผู้ให้สัมภาษณ์ทราบล่วงหน้า

การเตรียมการสัมภาษณ์ มีขั้นตอนดังนี้

1. ระดมความคิดเกี่ยวกับคำถาม

2. จัดกลุ่มของคำถาม และประเด็นของคำถาม

3. จัดลำดับคำถามก่อนหลัง

4. เรียบเรียงคำถาม


อ้างอิง

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยี(การออกแบบและเทคโนโลยี), พิมพ์ครั้งที่ 1, สถานที่พิมพ์ : โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว, ปีที่พิมพ์ 2563

Lalna W., “รู้จัก “Lean Thinking” แนวคิดที่จะช่วย SME อยู่รอดในยุคดิจิทัล”, https://www.peerpower.co.th สืบค้นวันที่ 3 มิ.ย. 63

สมาชิกเลขที่22419, “การสัมภาษณ์”, http://www.trueplookpanya.com/blogdiary/1573 สืบค้นวันที่ 3 มิ.ย. 63