ภาพ และการถ่ายภาพเบื้องต้น

1
2899

ความหมายและความเป็นมา

การถ่ายภาพมาจากภาษาอังกฤษว่า “Photography” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ “Phos” และ “Graphein” คำว่า “Phos” หมายถึง แสงสว่าง และ “Graphein” หมายถึง การเขียน เมื่อรวมคำทั้งสองแล้วจึงมีความหมายว่า การเขียนด้วยแสงสว่าง

การถ่ายภาพเป็นเรื่องที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตภาพ โดยอาศัยองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ กล้องถ่ายภาพ วัสดุไวแสง และแสงสว่าง ฉะนั้นในการผลิตภาพถ่าย จะต้องมีความรู้และทักษะการใช้กล้องถ่ายภาพ และอุปกรณ์ประกอบ ฟิล์มกระดาษอัดภาพ น้ำยาชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการล้างฟิล์มและอัดขยายภาพ หลักการในการถ่ายภาพรวมทั้งความรู้ด้านศิลปะ แสง สี การจัดองค์ประกอบของภาพ เป็นต้น

ตามประวัติการสื่อความหมายของมนุษย์ พบว่า มนุษย์รู้จักการใช้ภาพในการติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกันและกันได้ก่อนที่มนุษย์ จะรู้จักการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียน โจฮันน์ อะมอส คอมินิอุส (Johann Amos Comenius) เป็นบุคคลคนแรกที่ได้นำภาพมาประกอบบทเรียนในหนังสือ Orbis Picture ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกของโลกที่มีภาพประกอบ จุดประสงค์ก็คือ เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม เข้าใจในเนื้อหาสาระได้ถูกต้อง และรวดเร็วยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพมีความหมายมากกว่าคำพูดหรือการเขียนนับพันคำ”



ลักษณะของภาพดิจิตอล

ภาพบิตแมป (Bitmap) เป็นภาพแบบ Resolution Dependent ประกอบขึ้นด้วยจุดสีต่างๆ ที่มีจำนวนคงที่ตายตัวตามการสร้างภาพที่มี Resolution หรือความละเอียดของภาพต่างกันไป หากขยายภาพ Bitmap จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นตารางเล็กๆ

ภาพแว็กเตอร์ (Vecter) เป็นภาพประเภท Resolution-Independent มีลักษณะของการสร้างให้แต่ละส่วนเป็นอิสระต่อกัน โดยแยกชิ้นส่วนของภาพทั้งหมดออกเป็นเส้นตรง รูปทรงหรือส่วนโค้ง โดยอ้างอิงตามความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์หรือการคำนวณเป็นตัวสร้างภาพ เป็นการรวมเอา Object (เช่น วงกลม เส้นตรง ทรงกลม ลูกบาศก์และอื่นๆ เรียกว่ารูปทรงพื้นฐาน) ต่างชนิดมาผสมกัน มีทิศทางการลากเส้นไปในแนวต่างๆ เพื่อสร้างภาพที่แตกต่างกันโดยใช้คำสั่งง่ายๆ จึงเรียกภาพประเภทนี้ว่า Vector Graphic



ความแตกต่างระหว่างกราฟิกแบบ Bitmap และ Vector

ภาพบิตแมป (Bitmap) ภาพแว็กเตอร์ (Vecter)
 1. ลักษณะภาพประกอบขึ้นด้วยจุดต่างๆ มากมาย  1. ใช้สมการทางคณิตศาสตร์เป็นตัวสร้างภาพ โดยรวมเอา Object (เช่น วงกลม เส้นตรง) ต่างชนิดมาผสมกัน
 2. ภาพมีจำนวนพิกเซลคงที่จึงต้องการค่าความละเอียดมากขึ้นเมื่อขยายภาพ โดยจะคำนวณค่าสีทีละ pixels ทำให้ภาพแตกเมื่อขยายภาพให้ใหญ่  2. สามารถย่อและขยายขนาดได้มากกว่า โดยสัดส่วนและลักษณะของภาพยังเหมือนเดิม ความละเอียดของภาพไม่เปลี่ยนแปลง
 3. เหมาะสำหรับงานกราฟิก ในแบบต้องการให้แสงเงาในรายละเอียด  3. เหมาะสำหรับงานแบบวาง Layout งานพิมพ์ตัวอักษร Line Art หรือ Illustration
 4. แสดงภาพบนจอทันที เมื่อรับคำสั่งย้ายข้อมูลจากหน่วยความจำที่เก็บภาพไปยังหน่วยความจำของจอภาพ  4. คอมพิวเตอร์จะใช้เวลาในการแสดงภาพมากกว่า เนื่องจากต้องทำตามคำสั่งที่มีจำนวนมากกว่า



ประเภทของไฟล์ภาพดิจิตอล

.JPG เป็นไฟล์ที่มีการบันทึกข้อมูลแบบสูญเสียข้อมูล ภาพที่ได้นำมาใช้งานทั่วๆ ไป ไฟล์ประเภทนี้จะตัดรายละเอียดของภาพบางส่วนออก ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ไม่สามารถมองเห็นสีได้มากนัก เหมาะสำหรับเก็บไว้ดูหรือนำไปลงอินเทอร์เน็ต

.GIF เป็นไฟล์ที่มีการบีบอัดข้อมูลสูง แต่จะให้ความละเอียดของภาพมากกว่า ทำให้ไฟล์มีขนาดเล็กมาก มักนำมาใช้งานบนอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เพราะไฟล์ที่มีขนาดเล็กทำให้ไม่เสียเวลาในการเปิดหน้าเว็บไซต์ที่มีรูปภาพประกอบได้ในเวลาอันรวดเร็ว

.PSD เป็นไฟล์ที่เกิดจากโปรแกรมตกแต่งรูปภาพคือ Photoshop ไฟล์ประเภทสามารถแก้ไขได้ง่าย เพราะมีการทำงานเป็นเลเยอร์ มีข้อจำกัดคือมีไฟล์ขนาดใหญ่ และสามารถเปิดได้กับโปรแกรม Photoshop อย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปเปิดกับโปรแกรมจัดการรูปภาพอื่น ๆ ได้

.TIF เป็นไฟล์ที่ใช้สำหรับงานสิ่งพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ สามารถแสดงผลความละเอียดของภาพได้ทุกระดับตั้งแต่ภาพขาวดำไปจนถึงภาพสี ซึ่งจะนำไปใช้กับงานทางด้านการพิมพ์ สามารถใช้ได้กับทั้งเครื่อง MAC และ PC โปรแกรมที่ใช้ ตัวอย่างเช่น PageMaker

.PNG ย่อมาจาก Portable Network Graphics ซึ่งเป็นรูปแบบของไฟล์รูปภาพที่ถูกพัฒนามาเพื่อใช้สำหรับการแสดงผลบนเว็บไซต์โดยเฉพาะ และเพื่อใช้แทนรูปแบบของไฟล์ GIF เป็นไฟล์ที่มีความยืดหยุ่นสูง ใช้งานได้กับเครื่องที่มีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการทำงาน และสามารถทำงานอยู่บนคนละระบบปฏิบัติการ เช่น Linux และ Windows จะเห็นได้ว่าไฟล์แต่ละประเภทนั้นมีลักษณะการทำงานและการบีบอัดไฟล์ที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการนำมาใช้งานและความต้องการของผู้ใช้งานว่าต้องการไฟล์แบบใด



ชนิดของกล้องถ่ายภาพ

1.กล้องคอมแพ็ค (Digital Compact Camera) คอมแพคเป็นกล้องขนาดเล็กมีคุณภาพดี ตัวกล้องทําจากพลาสติกแข็งหรือไฟเบอร์ บางยี่ห้อทําจากโลหะมีน้ำหนักเบาช่องมองภาพแยกจากเลนส์ไม่สามารถปรับระยะชัดด้วยมือหรือเปลี่ยนรูรับแสงได้ บางรุ่นมีไฟแฟลชในตัวใช้งานง่ายเพียงมองผ่านช่องมองภาพแล้วกดเท่านั้น กล้องชนิดนี้ได้รับความนิยมมากในกลุ่มนักถ่าภาสมัครเล่นจนถึงนักถ่ายภาพอาชีพ


2.กล้อง SLR (Single Lens Reflex) เป็นกล้องที่สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น สามารถปรับตั้งค่าเกี่ยวกับการถ่ายภาพได้มากขึ้น มีการซูมที่มากขึ้น และคุณภาพของภาพที่มากขึ้น บางรุ่นสามารถใส่อุปกรณ์เสริมได้ เช่น แฟลช ตัวเสริมเลนส์ แต่ก็มีข้อจำกัดในบางเรื่อง เช่น ปรับค่าที่ยังไม่สามารถปรับได้ทั้งหมด การทำงานจะต่างจากกล้องธรรมดาทั่วไป นั่นคือ ภาพที่เราเห็นจะถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มโดยตรง ต่างจากกล้องคอมแพคที่เราเห็นภาพจากช่องมองภาพ


3. กล้อง Rangefinders เป็นกล้องมิเรอร์เลสแบบดั้งเดิม ได้รับความนิยมมากจากช่างภาพสตรีท เพราะมันเล็กและไม่สร้างความรำคาญ กล้อง Rangefinders ใช้วิธีการโฟกัสที่แตกต่างไปจากกล้องรูปแบบอื่น คือแทนที่จะมองผ่านเลนส์โดยตรง แต่ของกล้อง Rangefinders จะมองผ่านกระจกช่องมองภาพ


4.กล้อง DSLR (Digital Single Lens Reflex) แปลตามตัวก็คือ กล้องดิจิตอลสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว จะเห็นได้ตามที่มืออาชีพใช้กัน เป็นกล้องที่มีขนาดใหญ่ ให้คุณภาพของภาพที่สูง และสามารถปรับค่าเกี่ยวกับการถ่ายภาพได้ทุกอย่าง มีความยืดหยุ่นสูง และสามารถใส่อุปกรณ์เสริมได้หลายอย่าง และสามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ ซึ่งหมายความว่า ทำให้ได้ภาพที่หลากหลาย และคุณภาพของภาพที่มากขึ้นนั่นเอง


5. กล้อง Mirroless เป็นกล้องที่นำการผสมผสานข้อดีระหว่างกล้อง 2 แพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ กล้องที่คุณภาพสูงอย่าง กล้อง DSLR แต่ในขณะเดียวกันก็มีขนาดที่เล็กกะทัดรัด พกพาง่าย ซึ่งรูปร่างหน้าตามองไปก็คล้ายๆ กับ กล้อง compact เพราะว่ามันมีขนาดเล็ก แต่หากดูกันให้ละเอียดแล้ว กล้อง Mirrorless นั้นมีความแตกต่างกันคือ สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้เหมือน กล้อง DSLR นั่นเอง แม้ว่ามันสามารถเปลี่ยนเลนส์ได้เหมือนกล้อง DSLR แต่มันก็มีจุดที่แตกต่าง ก็คือ กล้อง ชนิดนี้ จะไม่มีชุดกระจกสะท้อนภาพแบบ กล้อง DSLR ซึ่งเป็นที่มาของชื่อว่า Mirrorless ซึ่งในข้อแตกต่างดังกล่าวทำให้การออกแบบตัวกล้องสามารถทำให้เล็กลงได้มาก และในเมื่อไม่มีชุดกระจกสะท้อนภาพ ช่องมองภาพของ กล้องชนิดนี้ จึงเป็นแบบที่ใช้จอ LCD ขนาดเล็กติดตั้งไว้ในช่องมองภาพ แต่กล้องหลายๆ รุ่นก็ไม่มีช่องมองภาพมาให้จึงต้องเล็งภาพผ่านทางจอ LCD ด้านหลังแทน



ประโยชน์ของการถ่ายภาพ

1.บันทึกเรื่องราว เหตุการณ์ การบันทึกเรื่องราวด้วยภาพทำให้ได้ข้อมูล รายละเอียดต่างๆ ในการศึกษาเป็นอย่างดี
2.การสื่อสาร และการศึกษา ภาพถ่ายสามารถถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลไปยังผู้รับ โดยผ่านสื่อแขนงต่างๆ
3.ความงาม การถ่ายภาพช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ การใช้หลักการทางศิลปะในการถายภาพ หรือที่เรียกว่า ศิลปะภาพถ่าย
4. ความเพลิดเพลิน ทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โดยใช้ช่วงเวลาให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นงานอดิเรกสำหรับผู้รักการถ่ายภาพ
5.อาชีพ การถ่ายภาพเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชลแขนงต่างๆ มากมาย ซึ่งต้องใช้ภาพถ่ายเพื่อสื่อสารเชิงธุรกิจ



การใช้และการบำรุงรักษากล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอล

…….การใช้และบำรุงรักษากล้องถ่ายภาพดิจิตอลอย่างถูกวิธี ย่อมหมายถึง การเพิ่มประสิทธิภาพของกล้องถ่ายภาพให้สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งจะขอแนะนำวิธีการใช้และบำรุงรักษากล้องถ่ายภาพดิจิตอลอย่างถูกวิธีดังนี้
1. ใช้งานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากกล้องถ่ายภาพดิจิตอลมีระบบการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อน เมื่อเราใช้งานจึงจำเป็นต้องใช้อย่างทะนุถนอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
2. ตรวจสอบการใช้งานก่อนและหลังการใช้งานทุกครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่น สวิตซ์ปิดเปิดกล้อง , ฝาครอบเลนส์ , แบตเตอรี่
3. เลือกใช้แบตเตอรี่ให้ถูกต้องกับลักษณะการใช้งาน โดยดูได้จากคู่มือการใช้กล้องที่กำหนดมา ไม่ควรใช้แบตเตอรี่ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือชำรุดและควรนำแบตเตอรี่ออกจากกล้องทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
4. ทำความสะอาดกล้องอย่างสม่ำเสมอ โดยควรจะทำความสะอาดหลังจากการใช้งานทุกครั้ง และต้องทำความสะอาดอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะบริเวณเลนส์และช่องใส่การ์ดข้อมูล ต้องให้ความระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ
5. เก็บกล้องในที่ที่ไม่มีฝุ่นละอองหรือห่างจากความร้อน เช่น ไม่ควรเก็บกล้องไว้ในตู้เสื้อผ้า ในรถหรือที่มีฝุ่นละอองมาก ควรเก็บไว้ในตู้เก็บโดยเฉพาะที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้จะดีที่สุด
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผ่นบันทึกข้อมูลโดยตรง เนื่องจากแผ่นบันทึกข้อมูลบางชนิดไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันการเกิดรอยขีดข่วน เมื่อจำเป็นจะต้องใช้งานควรสัมผัสเฉพาะบริเวณขอบของแผ่นบันทึกข้อมูล หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณหน้าสัมผัสเพราะอาจเกิดรอยขีดข่วนหรือความชื้นจากเหงื่อและจากการสัมผัสอาจทำอันตรายแก่แผ่นบันทึกข้อมูลได้
7. ไม่ควรนำแบตเตอรี่ทิ้งไว้ในกล้องถ่ายภาพ ทุกครั้งเมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้วควรนำแบตเตอรี่ออกจากกล้อง เนื่องจากกล้องถ่ายภาพระบบดิจิตอลจะทำงานตลอดเวลาเมื่อมีแบตเตอรี่บรรจุอยู่ถึงแม้เราจะปิดสวิทช์กล้องแล้วก็ตาม



การถ่ายภาพระยะต่างๆ

1. ECU ย่อมาจาก Extream Close Up (ภาพขนาดใกล้มาก) ถ่ายรายละเอียดเฉพาะส่วน เช่น เม็ดเหงื่อบนจมูก ภาพสะท้อนในดวงตา

2. CU ย่อมาจาก Close up (ภาพขนาดใกล้) ภาพ CU จะใช้สำหรับเจาะรายละเอียดบนใบหน้า (หรือส่วนอื่นๆก็ได้) เน้นความสำคัญเล็กๆ ในรายละเอียดของ object นั้นๆ ขนาดของภาพจะเห็นประมาณ หัวถึงคาง เรียกว่า CU ดังภาพ

3. MS ย่อมาจาก Medium Shot (ภาพขนาดปานกลาง) ระยะเห็นครึ่งตัวคน เห็นสีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหว ของตัวละครชัดจนขึ้น

4. LS ย่อมาจาก Long Shot (ภาพขนาดไกล) เห็นรายละเอียดของสภาพแวดล้อม ว่าทำอะไรที่ไหน ส่วนใหญ่จะใช้เล่าเกี่ยวกับสถานที่ เวลา

5. ELS ย่อมากจาก Extra long shot (ภาพขนาดไกลมาก) ถ่ายสิ่งที่อยู่ไกล / ให้เห็นมุมกว้าง / บางทีเรียกว่า ภาพมุมกว้าง แสดงสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไป



มุมมองภาพ

จุดดูภาพที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์และจอโทรทัศน์ ผู้กำกับจะกำหนดว่าจะเสนอภาพจากมุมใด คือให้ผู้ดูมองเห็นภาพจากมุมใดจึงจะน่าสนใจและสมจริงกับเรื่องราวที่เสนอ มุมมองภาพหรือที่นิยมเรียกว่ามุมกล้องโดยทั่วไปจะประกอบด้วย 3 มุม ได้แก่

1.มุมสูง (High Angle)
ตั้งกล้องถ่ายภาพยนตร์และโทรทัศน์ไว้สูงกว่าวัตถุ ถ้าเป็นภาพสถานที่กว้างใหญ่ การถ่ายภาพไกลจากมุมสูงทำให้เห็นภาพได้กว้างไกล เป็นการเปิดฉากแนะนำสถานที่ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นการถ่ายคน จะเป็นการเสนอให้เห็นว่าคนๆ นั้นไม่สำคัญ เป็นคนต่ำต้อย ไม่สง่าผ่าเผย

2. ภาพมุมระดับสายตา (Eye Level Angle)
เป็น ภาพที่ตั้งกล้องในระดับสายตาของคน หรือของวัตถุที่ถูกถ่าย ภาพในระดับสายตาเพื่อสื่อความหมายว่าภาพที่ปรากฏจะเป็นภาพให้ความรู้สึก ธรรมดา ไม่เด่นอะไร

3. ภาพมุมต่ำ (Low Angle)
เป็นภาพที่ตั้งกล้องถ่ายในระดับต่ำกว่าคนหรือวัตถุที่ถูกถ่าย เป็นภาพที่แหงนดู สื่อความหมายหรือให้เกิดความรู้สึกว่าคนหรือวัตถุที่ถูกถ่ายมีความสำคัญ มากกว่าปกติ น่าเคารพ ถือนับ





อ้างอิง – มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. “ลักษณะและประเภทของภาพดิจิตอล”. www.stou.ac.th :
วันที่สืบค้น 1 สิงหาคม 2557

– นาย อภินันท์ หงษ์ประสิทธิ์ . “ชนิดของนามสกุลไฟล์ภาพ และคุณสมบัติ”. www.l3nr.org :
วันที่สืบค้น 1 สิงหาคม 2557

– งานคอมพิวเตอร์ โรงเรียนกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี. “ขนาดของภาพ ( Size of shot / Type of shot )”. www.kabinburischool.com : วันที่สืบค้น 1 สิงหาคม 2557

– งานคอมพิวเตอร์ โรงเรียนกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี. “กฎสามส่วน”. ww.kabinburischool.com : วันที่สืบค้น 1 สิงหาคม 2557

– tempecamera, “Nikon FM2 Body”, https://www.tempecamera.biz/NIKON_FM2_35MM_p/rnt1128.htm สืบค้นวันที่ 25 ส.ค. 62

– thephoblographer, “The Best Cameras for Vacations and Travel: Point and Shoots (2017 Edition)” https://www.thephoblographer.com/2017/06/12/the-best-cameras-for-vacations-and-travel-point-and-shoots-2017-edition/ สืบค้นวันที่ 25 ส.ค. 62

– phhsnew, “กล้อง Rangefinder คืออะไร?”, https://th.phhsnews.com/articles/howto/what-is-a-rangefinder-camera.html สืบค้นวันที่ 25 ส.ค. 62

– Flipkart, “Canon EOS 60D (Body with EF-S 18-200 mm IS III Lens) DSLR Camera (Black)”, https://www.flipkart.com/canon-eos-60d-body-ef-s-18-200-mm-iii-lens-dslr-camera/p/itmdv58ewnyz5bxy สืบค้นวันที่ 25 ส.ค. 62

Comments are closed.