วิดีโอเป็นองค์ประกอบของมัลติมีเดียที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิดีโอในระบบดิจิตอลสามารถนำเสนอข้อความหรือรูปภาพ (ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว) ประกอบกับเสียงได้สมบูรณ์มากกว่าองค์ประกอบชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของการใช้วิดีโอในระบบมัลติมีเดียก็คือ การสิ้นเปลืองทรัพยากรของพื้นที่บนหน่วยความจำจำนวนมาก เนื่องจากการนำเสนอวิดีโอจะต้องประกอบด้วยจำนวนภาพไม่ต่ำกว่า 30 ภาพต่อวินาที(Frame/Second) ถ้าหากการประมวลผลภาพดังกล่าวไม่ได้ผ่านกระบวนการบีบอัดขนาดของสัญญาณมาก่อน การนำเสนอภาพเพียง 1 นาทีอาจต้องใช้หน่วยความจำมากกว่า 100 MB ซึ่งจะทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่เกินขนาดและมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ด้อยลง ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถบีบอัดขนาดของภาพอย่างต่อเนื่องจนทำให้ภาพวิดีโอสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบมัลติมีเดีย (Multimedia System)
การตัดต่อภาพยนตร์
การตัดภาพยนตร์ คือ การลำดับภาพจากภาพยนตร์ที่ถ่ายทำไว้โดยนำแต่ละฉากมาเรียงกันตามโครงเรื่องหรือ Storyboard จากนั้นใช้เทคนิคการตัดต่อทำให้ภาพและเสียงมีความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องกัน ทำให้ได้ภาพยนตร์ที่สื่อสารเรื่องราวที่ต่อเนื่องและสมบูรณ์ ถือได้ว่าการตัดต่อภาพยนตร์เป็นขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งของการสร้างภาพยนตร์ก่อนการนำไปเผยแพร่
ชนิดของวิดีโอ
วิดีโอที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
1. วิดีโออะนาลอก (Analog Video) เป็นวีดีโอที่ทำการบันทึกข้อมูลภาพและเสียงให้อยู่ในรูปของสัญญาณอนาลอก (รูปของคลื่น) สำหรับวีดีโอประเภทนี้ เช่น VHS (Video Home System) ซึ่งเป็นม้วนเทปวีดีโอที่ใช้ดูกันในสมัยก่อน เมื่อทำการตัดต่อข้อมูลของวีดีโอชนิดนี้ อาจจะทำให้คุณภาพลดน้อยลง
2. วีดีโอดิจิตอล (Digital Video) เป็นวีดีโอที่ทำการบันทึกข้อมูลภาพและเสียงที่ได้มาจากกล้องดิจิตอล ให้อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตอล คือ 0 กับ 1 ส่วนการตัดต่อข้อมูลของภาพและเสียงที่ได้มาจากวีดีโอดิจิตอลนั้น จะแตกต่างจากวีดีโออะนาลอก เพราะข้อมูลที่ได้จะยังคงคุณภาพความคมชัดเหมือนกับข้อมูลต้นฉบับ การพัฒนาของวีดีโอดิจิตอลส่งผลให้วีดีโออะนาลอกได้จางหายไปจากวงการมัลติมีเดีย
มาตรฐานการแพร่ภาพวีดีโอ
มาตรฐานการแพร่ภาพทั้งสาม ได้แก่ NTSC, PAL และ SECAM เป็นมาตรฐานที่นิยมใช้กันในหลายพื้นที่ทั่วโลก และได้มีการพัฒนามาตรฐานใหม่ขึ้นมา เรียกว่า “HDTV (High-Definition Television” ทำให้ผู้ผลิตมัลติมีเดียจำเป็นที่จะต้องทราบถึงมาตรฐานที่ใช้งานในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม
– National Television System Committee (NTSC) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตั้งมาตรฐานที่เกี่ยวกับโทรทัศน์และวีดีโอในสหรัฐ มาตรฐานนี้เป็นการเข้ารหัสข้อมูลแบบสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้สร้างภาพด้วยเส้นในแนวนอน 525 เส้นต่อเฟรม ในอัตรา 30 เฟรมต่อวินาที มีสี 16 ล้านสีที่แตกต่างกันและอัตรารีเฟรช เป็น 60 Halt-Frame (Interlace) ต่อวินาที แต่บนจอภาพคอมพิวเตอร์นั้นจะใช้วิธีการที่เรียกว่า “Progressive-Scan” ซึ่งมีความแตกต่างจากจอภาพโทรทัศน์ตรงที่สามารถสร้างภาพเป็นแบบเฟรมต่อเฟรม โดยไม่มีการ Interlacing
– Phase Alternate Line (PAL) เป็นมาตรฐานของโทรทัศน์และวีดีโอที่นิยมในแถบยุโรป รวมถึงไทยด้วย เป็นการสร้างภาพจากแนวนอน 625 เส้นต่อเฟรม ในอัตรา 25เฟรมต่อวินาทีและทำการแสดงภาพด้วยวิธี Interlacing เช่นกันแต่จะแสดงภาพในอัตรารีเฟรช เป็น 50 Halt-Frame ต่อนาที
– Sequential Color and Memory (SECAM) เป็นมาตรฐานของการแพร่สัญญาณโทรทัศน์และวีดีโอที่ใช้กันในฝรั่งเศส ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และประเทศในพื้นที่ใกล้เคียง ทำการแพร่สัญญาณแบบอนาลอก ส่วนการสร้างภาพจะเป็น 819เส้น ด้วยอัตรารีเฟรช 25 เฟรมต่อวินาที ซึ่งจะแตกต่างจากมาตรฐาน NTCS และ PAL ในเรื่องการผลิต วิธีการแพร่ภาพออกอากาศ และจากสาเหตุที่ระบบนี้ไม่แตกต่างจากระบบ PAL มากนัก เครื่องรับโทรทัศน์ในยุโรปจึงทำการพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ PALและ SECAM
– High Definition Television (HDTV) เป็นเทคโนโลยีของการแพร่ภาพโทรทัศน์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อแสดงภาพที่มีความละเอียดสูง คือ 1280×720 ซึ่งเป็นความละเอียดสำหรับการแสดงภาพเช่นเดียวกับโรงภาพยนต์ แต่ในขณะพัฒนานั้นได้มีการโต้เถียงกันระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมโทรทัศน์กับกลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ว่าจะใช้ความละเอียดจอภาพเป็น 1920×1080 พิกเซล หลังจากนั้นสรุปได้ว่า ความละเอียดนี้ไม่เหมาะสม ดังนั้นมาตรฐาน HDTV จึงได้กำหนดให้มีความละเอียดของจอภาพเป็น 1280×720
การผลิตวีดีโอ
1. การวางแผน เป็นการกำหนดเรื่องราวที่จะถ่ายทำว่าต้องการถ่ายทำสิ่งใด และกำหนดความยาวของเรื่องเพื่อที่จะได้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อม
2. การถ่ายทำ เป็นการบันทึกภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่งหรือเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่ผู้ผลิตต้องการจะถ่ายทำเพื่อจะได้นำข้อมูลนั้นเก็บไว้
3. การตัดต่อ เป็นการนำไฟล์หลายๆ ไฟล์ที่จัดเก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์มาเรียงต่อกัน โดยทำการเลือกภาพและเสียงที่ต้องการ จากนั้นจึงทำการตกแต่งภาพ โดยการเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ เช่น สีสัน ความสวยงาม ข้อความ เพิ่มความเร็วหรือลดความเร็วในการแสดงภาพเคลื่อนไหว หรือจะทำการปรับเปลี่ยนความยาวของข้อมูลก็ได้
5. การจัดทำสื่อประสม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จาการตัดต่อวีดีโอด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยนำผลิตภัณฑ์ที่ได้มาทำการเก็บบันทึกให้อยู่ในรูปของไฟล์ต่างๆ เช่น ไฟล์วิดีโอ หรือแผ่นดีวีดี ซึ่งเป็นสื่อที่นิยมมากในปัจจุบัน เพื่อจะได้เก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านั้นไว้ หรือนำออกมาเพื่อเผยแพร่
ขั้นตอนการสร้างภาพยนตร์
ในการจะสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องหรือสร้างรายการดีๆ สักรายการหนึ่งจะต้องผ่านกระบวนการมากมายจนกว่าจะมาเป็นภาพยนตร์ที่ฉายออกสู่สายตาผู้ชม ซึ่งสามารถแบ่งขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากลตามวิธีการทางานเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

Pre – Production
เป็นขั้นตอนการเตรียมงานสร้างภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญ เรียกได้ว่าเป็นการวางแผนการทำงานทั้งเรื่อง รวมทั้งการวางตัวผู้ทำงานและประสานงานทั้งหมด โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีลำดับ ดังนี้
1. คัดเลือกบทภาพยนตร์ รวมไปถึงการคิดบทใหม่หรือไปเลือกบทที่มีอยู่แล้วมาใช้งานโดยบทที่ได้จะเป็นรูปแบบบรรยาย มีบทพูด มีการบรรยายฉากต่างๆ ซึ่งเราเรียกบทภาพยนตร์นี้ว่า “screenplay”
2. ปรับให้เป็นบทสำหรับถ่ายทำ เป็นการนำบทมาตีย่อยลงไป โดยระบุให้บทถูกแยกออกเป็นช็อตๆ ใส่รายละเอียดเรื่องมุมกล้องและการเคลื่อนที่ของกล้องขนาดภาพในการถ่ายทำ
3. จัดทำ Storyboard ในส่วนนี้จะเป็นการแปลงรายละเอียดจากตัวหนังสือเป็นภาพร่าง เพื่อมองให้ชัดขึ้นว่าแต่ละฉากมีลักษณะอย่างไร เพื่อความรวดเร็วในขั้นตอนการถ่ายทำ

4. วางตารางการถ่ายทำ สำหรับขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะรวบรวมทั้งบท ฉาก นักแสดง ทีมงาน ช่วงเวลาถ่ายทำ ไว้ด้วยกัน
Production
เป็นขั้นตอนการถ่ายทำภาพยนตร์เป็นช็อต (Shot) กล่าวคือเป็นการถ่ายทำตามตารางการถ่ายทำในแต่ละช่วงของบท
Post – Production
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างภาพยนตร์ เป็นการนำผลงานการถ่ายทำแต่ละช็อตมาตัดต่อให้มีความต่อเนื่องกันตาม Storyboard และทำการปรับแต่งภาพด้วยเอฟเฟ็กต์ต่างๆ การเพิ่มข้อความการแต่งสีสันให้ภาพวิดีโอ ตลอดจนการใส่เสียงประกอบ การสร้างความต่อเนื่องของฉาก จนถึงขั้นตอนการแปลงเนื้องานออกสู่สายตาผู้ชมโดยขั้นตอนเหล่านี้จะทาในโปรแกรมตัดต่อภาพยนตร์ทั้งหมด
การบีบอัดวีดีโอ
เป็นการจัดเก็บข้อมูลภาพและเสียงของไฟล์ต้นฉบับให้มีขนาดลดน้อยลง แต่ยังคงมีปริมาณของข้อมูลเท่าเดิม แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าไฟล์อาจจะมีคุณภาพลดน้อยลงไปตามขนาดที่บีบอัด แต่เนื่องจากการบีบอัดข้อมูลมีประโยชน์เป็นอย่างมากจึงทำให้มีการพัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งสามารถแสดงได้ดังต่อไปนี้
CODEC: เป็นเทคโนโลยีการบีบอัดและการคลายข้อมูล ซึ่งสามารถนำไปใช้กับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ โดยส่วนมาก CODEC จะนิยมใช้กันในบีบอัดแบบ MPEG, Indeo และ Cinepak
MPEG: (Moving Picture Experts Group) เป็นมาตรฐานการบีบอัดสัญญาณภาพและเสียง โดยใช้ระบบ DCT ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กับระบบวีดีโอคุณภาพสูงทั่วไป จะมีความคล้ายคลึงกับการบีบอัดข้อมูลแบบ JPEG แต่จะลดจำนวนข้อมูลที่ซ้ำกันของภาพต่อไปด้วย การบีบอัดข้อมูลแบบ MPEG นี้ เป็นแบบไม่สมมาตร เนื่องจากขั้นตอนในการเข้ารหัสสัญญาณวีดีโอนานกว่าขั้นตอนการถอดรหัสข้อมูล โดย MPEG ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องดังนี้
– MPEG-1 ใช้กับวีดีโอที่ดูตามบ้าน เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ VHS ซึ่งไฟล์ที่ได้จากการบีบอัดข้อมูลแบบนี้สามารถใช้เครื่องเล่น CD ทั่วไป อ่านหรือเขียนข้อมูลได้ แต่ยังให้ภาพที่ค่อนข้างหยาบ สัญญาณสีแต่ละจุดไม่สามารถกำหนดเป็นสีที่ถูกต้องได้ ถ้าเป็นระบบที่ใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ช่วยในการถอดรหัสจะแสดงภาพที่ชัดเจนได้เต็มจอภาพ แต่ถ้าใช้ซอฟต์แวร์อย่างเดียวจะแสดงภาพที่ชัดเจนได้เพียงครึ่งจอภาพ
– MPEG-2 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะการบีบอัดข้อมูลแบบนี้ก่อนที่คอมพิวเตอร์จะคำนวณผลเพื่อแทนค่าจุดสีต่าง ๆ ภาพจะถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ และจะคำนวณทีละหลาย ๆ ภาพ เรียกว่า “GOP (Group of Picture) “ซึ่งเป็นการมองภาพครั้งละ 8-24 ภาพ โดยจะดูจากภาพที่หนึ่งของ GOP เป็นหลัก จากนั้นจะทำการเข้ารหัสภาพ แล้วมองภาพถัดไปว่ามีความแตกต่างจากภาพแรกที่จุดใด จากนั้นจะทำการเปรียบเทียบและเก็บเฉพาะที่แตกต่างของภาพไว้ในเฟรมนั้น ส่วนภาพต่อไปก็ทำการเปรียบเทียบกับภาพติดกัน แล้วเก็บส่วนต่างไว้เช่นกัน ทำให้สามารถลดจำนวนข้อมูลที่ต้องการเก็บ และเก็บบันทึกข้อมูลที่ต้องการถอดรหัสได้
– MPEG-3 เพื่อใช้งานกับโทรทัศน์ที่มีความคมชัดสูง หรือเรียกว่า HDTV (High – Definition Television) เป็นโทรทัศน์ดิจิตอลชนิดใหม่ที่ใช้ในสหรัฐ แต่ไม่ได้นำมาใช้งานเนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จ
– MPEG-4 เป็นมาตรฐานที่ใกล้เคียงกับ Quick Time เพื่อใช้งานทางด้านมัลติมีเดียที่มีแบนด์วิดท์ (Bandwidth) ต่ำ ซึ่งสามารถรวมภาพ เสียง และส่วนประกอบอื่นที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นได้ ที่สำคัญ MPEG-4 ได้ถูกออกแบบให้มีความสามารถในเชิงโต้ตอบกับวัตถุต่าง ๆ ในภาพได้
– MPEG-7 เป็นตัวเชื่อมรายละเอียดเนื้อหามัลติมีเดียเข้าด้วยกัน (Multimedia Content Description Interface) โดยมีจุดหมายที่จะสร้างมาตรฐานการอธิบายข้อมูลข่าวสารของมัลติมีเดีย เพื่อใช้ในการสนับสนุนความหมายของข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ บนสื่อ
รูปแบบของไฟล์วีดีโอที่ใช้บนเว็บ
เป็นรูปแบบที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลภาพและเสียงที่สามารถนำมาแสดงผลบนเว็บได้เลย มีหลายรูปแบบโดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้
– *.rm/ *.ra/ *.ram เป็นฟอร์แมตที่พัฒนาโดยบริษัท RealNetwork นิยมใช้นำเสนอข้อมูลไฟล์ผ่านอินเตอร์เน็ตโดยใช้โปรแกรม Real Player
– *.MPEG2 / *.MPEG4 เป็นฟอรแมตที่สามารถเปิดได้ด้วยโปรแกรม Windows Media Player
– *.asf/ *.wmv เป็นฟอร์แมตที่คล้ายคลึงกับ *.MPEG2/ *.MPEG4 สามารถเปิดไฟล์ทั้งสองได้ด้วยโปรแกรม Windows Media Player เช่นกัน
– *.viv เป็นฟอร์แมตที่สามาถเปิดไฟล์ได้ด้วยโปรแกรม Vivo Active Player แต่ในปัจจุบันนี้ได้เลิกใช้ไปแล้ว
– *.mov เป็นฟอร์แมตที่พัฒนาโดยบริษัท Apple นิยมใช้นำเสนอข้อมูลไฟล์ผ่านอินเตอร์เน็ตโดยใช้โปรแกรม Quick Time
– *.avi (Audio / Video Interleave) เป็นฟอร์แมตที่พัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟต์เรียกว่า Video for Windows มีนามสกุลเป็น *.avi ปัจจุบันมีโปรแกรมแสดงผลติดตั้งมาพร้อมกับชุด Microsoft Windows คือ Windows Media Player นั่นเอง
ความสำคัญ
การตัดต่อลำดับภาพมีความสำคัญในส่วนที่ทำให้ผู้ดูเข้าใจเรื่องราวที่นําเสนอและได้อารมณ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นจนจบเรื่อง
1. การดึงผู้ดูให้เข้าไปเกี่ยวของและเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ในเรื่องทำให้ผู้ดูเกิดสภาพอารมณ์ตามที่ผู้ตัดต่อต้องการ
2. การสร้างเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง
3. การเชื่อมต่อภาพให้ดูลื่นไหล
4. การแก้ไขจุดบกพร่องที่อาจจะเกิดมาจากการถ่ายทำ
5. การกำหนดเวลา หรือ การกําจัดเวลา
อ้างอิง
Kamol Khampibool, “การตัดต่อภาพยนต์และทฤษฏีวีดีโอ”, https://itguest.blogspot.com/2011/04/01.html สืบค้นวันที่ 6 ต.ค. 60
digital57402, “เทคนิคการตัดต่อภาพด้วยสื่อดิจิทัล”, https://sites.google.com/site/digital57402/sux-dicithal/thekhnikh-kar-tad-tx-phaph-dwy-sux-dicithal สืบค้นวันที่ 6 ต.ค. 60
Naraporn Fongsawat, “ทำความเข้าใจกับการตัดต่อวีดีโอ”, http://premierepro6.blogspot.com/2014/10/1.html สืบค้นวันที่ 6 ต.ค. 60
Adisak Tisanon , “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตัดต่อวีดีโอ”, http://kruoong.blogspot.com/2011/07/blog-post.html สืบค้นวันที่ 6 ต.ค. 60
[…] 1 พื้นฐานเกี่ยวกับภาพ 1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวิดีโอ 2. […]
Comments are closed.