ความหมายของ มัลติมีเดีย
มัลติมีเดีย หมายถึง การใช้สื่อหลายๆ ประเภทร่วมกัน ที่มีลักษณะเป็นข้อความ รูปภาพ และเสียงประกอบกัน โดยมัลติมีเดียจะช่วยในการเรียนรู้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ความเป็นมาของสื่อมัลติมีเดีย
สื่อมัลติมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะได้นำมาใช้ในการฝึกอบรม และให้ความบันเทิง
ส่วนในวงการศึกษานั้น มัลติมีเดียได้นำมาใช้เพื่อการเรียนการสอน ทั้งนี้เพราะว่ามัลติมีเดียสามารถที่จะนำเสนอได้ทั้งเสียง ข้อความ ภาพเคลื่อนไหว ดนตรี กราฟิก ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และวีดิโอ ประกอบกับสามารถที่จะจำลองภาพของการเรียนการสอนที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองแบบเชิงรุก (Active Learning)
องค์ประกอบของมัลติมีเดีย
มัลติมีเดียสามารถจำแนกองค์ประกอบของสื่อต่างๆ ได้เป็น 5 ชนิด ประกอบด้วย
1. ข้อความหรือตัวอักษร (Text)
2. ภาพนิ่ง (Still Image)
3. ภาพเคลื่อนไหว (Animation)
4. เสียง (Sound)
5. ภาพวิดีโอ (Video)
1. ข้อความหรือตัวอักษร (Text)
ข้อความหรือตัวอักษรถือว่าเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของมัลติมีเดีย ระบบมัลติมีเดียที่นำเสนอผ่านจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากจะมีรูปแบบและสีของตัวอักษรให้เลือกมากมายตามความต้องการแล้วยังสามารถกำหนดลักษณะของการปฏิสัมพันธ์(โต้ตอบ)ในระหว่างการนำเสนอได้อีกด้วย
2. ภาพนิ่ง (Still Image)
ภาพนิ่งเป็นภาพที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น ภาพถ่าย ภาพวาด และภาพลายเส้น เป็นต้น ภาพนิ่งนับว่ามีบทบาทต่อระบบงานมัลติมีเดียมากกว่าข้อความหรือตัวอักษร ทั้งนี้เนื่องจากภาพจะให้ผลในเชิงการเรียนรู้หรือรับรู้ด้วยการมองเห็นได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายทอดความหมายได้ลึกซึ่งมากกว่าข้อความหรือตัวอักษรนั่นเองซึ่งข้อความหรือตัวอักษรจะมีข้อจำกัดทางด้านความแตกต่างของแต่ละภาษา แต่ภาพนั้นสามารถสื่อความหมายได้กับทุกชนชาติ ภาพนิ่งมักจะแสดงอยู่บนสื่อชนิดต่างๆ เช่น โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์หรือวารสารวิชาการ เป็นต้น
3. ภาพเคลื่อนไหว (Animation)
ภาพเคลื่อนไหว หมายถึง ภาพกราฟฟิกที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงขั้นตอนหรือปรากฏ การณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การเคลื่อนที่ของอะตอมในโมเลกุล หรือการเคลื่อนที่ของลูกสูบของเครื่องยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์จินตนาการให้เกิดแรงจูงใจจากผู้ชม การผลิตภาพเคลื่อนไหวจะต้องใช้โปรแกรมที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางซึ่งอาจมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่บ้างเกี่ยวกับขนาดของไฟล์ที่ต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บมากกว่าภาพนิ่งหลายเท่านั่นเอง

4. เสียง (Sound)
เสียงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของมัลติมีเดีย โดยจะถูกจัดเก็บอยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตอลซึ่งสามารถเล่นซ้ำกลับไปกลับมาได้ โดยใช้โปรแกรมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับทำงานด้านเสียง หากในงานมัลติมีเดียมีการใช้เสียงที่เร้าใจและสอดคล้องกับเนื้อหาในการนำเสนอ จะช่วยให้ระบบมัลติมีเดียนั้นเกิดความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความน่าสนใจและน่าติดตามในเรื่องราวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เนื่องจากเสียงมีอิทธิพลต่อผู้ใช้มากกว่าข้อความหรือภาพนิ่งนั่นเอง ดังนั้น เสียงจึงเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับมัลติมีเดียซึ่งสามารถนำเข้าเสียงผ่านทางไมโครโฟน แผ่นซีดี ดีวีดี เทป และวิทยุ เป็นต้น

5. วีดีโอ (Video)
วิดีโอเป็นองค์ประกอบของมัลติมีเดียที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิดีโอในระบบดิจิตอลสามารถนำเสนอข้อความหรือรูปภาพ (ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว) ประกอบกับเสียงได้สมบูรณ์มากกว่าองค์ประกอบชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของการใช้วิดีโอในระบบมัลติมีเดียก็คือ การสิ้นเปลืองทรัพยากรของพื้นที่บนหน่วยความจำเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการนำเสนอวิดีโอด้วยเวลาที่เกิดขึ้นจริง (Real-Time) จะต้องประกอบด้วยจำนวนภาพไม่ต่ำกว่า 30 ภาพต่อวินาที (Frame/Second)ถ้าหากการประมวลผลภาพดังกล่าวไม่ได้ผ่านกระบวนการบีบอัดขนาดของสัญญาณมาก่อน การนำเสนอภาพเพียง 1 นาทีอาจต้องใช้หน่วยความจำมากกว่า 100 MB ซึ่งจะทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่เกินขนาดและมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ด้อยลง ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถบีบอัดขนาดของภาพอย่างต่อเนื่องจนทำให้ภาพวิดีโอสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบมัลติมีเดีย (Multimedia System)

การแทรกมัลติมีเดียในสื่อนำเสนอ
1. แทรกรูปภาพ
ในหน้าโปรแกรม PowerPoint เลือกที่แท็บ Insert เลือก Pictures แล้วเลือกตามสถานการณ์ต่อไปนี้

1.1 This Device… ใช้ในกรณีที่ภาพอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อคลิกเลือกแล้ว จะมีหน้าต่างขึ้นมาให้เลือกไฟล์รูปภาพที่อยู่ในเครื่อง

2.2 Stock Images… ใช้ในกรณีที่ต้องการภาพที่อยู่ในคลังของ Microsoft ซึ่งมีการจัดหมวดหมู่ให้เลือกใช้ได้ฟรี คือ Images, Icon, Cutout People, Stickers, Video และ Illustrations

3.3 Online Pictures… ใช้ในกรณีที่ต้องการภาพที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต โดยสามารถพิมพ์คีย์เวิร์ดเพื่อค้นหาภาพที่ต้องการได้ (ค้นหาด้วย Bing)

2. แทรกภาพหน้าจอ (Print Screen)
ในหน้าโปรแกรม PowerPoint เลือกที่แท็บ Insert เลือก Screenshot แล้วเลือกตามสถานการณ์ต่อไปนี้

2.1 Available Windows ใช้ในกรณีที่ต้องการบันทึกภาพโปรแกรมที่เราได้เปิดใช้งานไว้
2.2 Screen Clipping ใช้ในกรณีที่ต้องการบันทึกภาพโปรแกรมที่เราได้เปิดใช้งานไว้แต่เลือกเฉพาะส่วน
3. แทรกรูปภาพแบบเป็นอัลบั้ม

4. แทรกวิดีโอ
ในหน้าโปรแกรม PowerPoint เลือกที่แท็บ Insert เลือก Video แล้วเลือกตามสถานการณ์ต่อไปนี้
(รูปแบบการใช้งานเหมือนกับการแทรกรูปภาพ)

4.1 This Device… ใช้ในกรณีที่วิดีโออยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อคลิกเลือกแล้ว จะมีหน้าต่างขึ้นมาให้เลือกไฟล์วิดีโอที่อยู่ในเครื่อง
4.2 Stock Videos… ใช้ในกรณีที่ต้องการวิดีโอที่อยู่ในคลังของ Microsoft ซึ่งมีการจัดหมวดหมู่ให้เลือกใช้ได้ฟรี คือ Images, Icon, Cutout People, Stickers, Video และ Illustrations
4.3 Online Videos… ใช้ในกรณีที่มีลิงก์ หรือ URL ของวิดีโออยู่แล้ว สามารถนำลิงก์นั้นมาใส่ในงานนำเสนอได้เลย

5. แทรกเสียง
ในหน้าโปรแกรม PowerPoint เลือกที่แท็บ Insert เลือก Audio แล้วเลือกตามสถานการณ์ต่อไปนี้

5.1 Audio on My PC… ใช้ในกรณีที่ไฟล์เสียงอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว เมื่อคลิกเลือกแล้ว จะมีหน้าต่างขึ้นมาให้เลือกไฟล์เสียง
5.2 Record Audio… ใช้ในกรณีที่ยังไม่มีไฟล์เสียง แต่ต้องการบันทึกเสียงลงไปในงานนำเสนอ มีวิธีการใช้งานดังนี้

5.2.1 ตั้งชื่อไฟล์ในส่วนของ Name:
5.2.2 คลิกที่ปุ่มสีแดง เมื่อต้องการเริ่มบันทึกเสียง
5.2.3 กดปุ่มสี่เหลี่ยม เมื่อต้องการหยุดบันทึก
5.2.4 กดปุ่มสามเหลี่ยม เมื่อต้องการฟังเสียงที่ได้บันทึกไว้
6. แทรกวิดีโอบันทึกหน้าจอ
ในหน้าโปรแกรม PowerPoint เลือกที่แท็บ Insert เลือก Screen Recording เมื่อคลิกเปิดใช้งานแล้วจะมีหน้าต่างควบคุมดังภาพ

อ้างอิง
Sanook, “Multimedia”, https://dictionary.sanook.com/search/dict-computer/multimedia สืบค้นวันที่ 26 พ.ย. 2564
กิติมา เพชรทรัพย์, “องค์ประกอบของมัลติมีเดีย”, http://thaigoodview.com/library/contest1/tech04/21/standard/m03.html สืบค้นวันที่ 26 พ.ย. 2564
[…] เพิ่มความสามารถให้งานนำเสนอข้อมูล5. การแทรกมัลติมีเดีย6. การสร้างเอฟเฟกต์7. […]
Comments are closed.