“พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่” มีผลบังคับใช้แล้ว (บังคับใช้ 23 ส.ค. 65)

0
62

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ คุ้มครองอะไรบ้าง

สาระสำคัญของการปรับปรุง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ได้แก่ การกำหนดมาตรการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือเจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook (เฟซบุ๊ก) และ YouTube (ยูทูบ) สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้ทันทีเมื่อได้รับการแจ้งจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล รวมทั้งกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ให้บริการ ผู้ผลิต และผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อละเมิดลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ยังได้ขยายอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์งานภาพถ่ายไปตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ และคุ้มครองต่อเนื่องไปอีก 50 ปี หลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต เพื่อให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ชาวไทยรวมถึงทายาทได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว

แล้วเราได้ประโยชน์จากกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่อย่างไรบ้าง?

กรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า การแก้กฎหมายดังกล่าวช่วยยกระดับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะบนสื่อออนไลน์ที่สามารถระงับการเผยแพร่ผลงานละเมิดลิขสิทธิ์ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้นยังเป็นกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยที่มีศักยภาพในการก้าวสู่ระดับโลก ส่งเสริม การสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ ๆ รุกตลาดซื้อขายผลงานศิลปะในโลกดิจิทัล และรองรับการค้าในโลก Metaverse

หากเราถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ควรทำอย่างไร

1) ตรวจสอบหลักฐานว่าผู้กล่าวหาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ หรือเป็นผู้รับโอนลิขสิทธิ์ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ หรือไม่?

2) ตรวจสอบว่ามีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ เนื่องจากคดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอันยอมความได้ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนต้องร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะทำการจับกุมได้

3) ตรวจสอบว่าผู้กล่าวหามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วยหรือไม่และเป็นผู้ทำการจับกุม

4) การตรวจค้นในที่รโหฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีหมายค้นของศาลมาแสดงก่อนจึงจะทำการค้นได้

5) คดีละเมิดลิขสิทธิ์สามารถยอมความกันได้ ดังนั้นจึงควรยอมความต่อหน้าพนักงานสอบสวนและบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

6) ตรวจหลักฐานการมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินคดี เช่น เอกสารหมดอายุหรือไม่ การมอบอำนาจถูกต้องหรือไม่ มีอำนาจร้องทุกข์ ถอนคำร้องทุกข์ หรือยอมความหรือไม่ เป็นต้น

7) ควรติดต่อหรือประสานทนายความเพื่อมาอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับคดี


ข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-5475191 หรือสายด่วน 1368 หรือติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.ipthailand.go.th/th/