เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า “ทำไมอักษรเรียกไดรฟ์ (Drive Letter) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (Windows10) ต้องใช้ชื่อว่า C: และต่อด้วย D: E: F: … ไปเรื่อยๆ”
เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนความไปเมื่อสมัยก่อน คอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันทั่วไปนั้นจะมี Drive Floppy Disk อยู่ 2 ไดรว์ ซึ่ง Drive A เป็นที่เก็บระบบปฏิบัติการ (OS) ส่วน Drive B เป็นที่เก็บข้อมูล (Data)
แต่เมื่อเวลาผ่านไป OS ก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการเก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีการใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง Floppy Disk 3.5 นิ้ว เข้ามาแทนที่ Floppy Disk 5.25 นิ้ว ที่มีความจุน้อยกว่า แต่น่าจะด้วยราคาของอุปกรณ์ Floppy Disk Drive ขนาด 3.5 นิ้ว ทำให้ เรายังคงใช้ Floppy 5.25 นิ้วสำหรับ Drive B เพื่อเก็บข้อมูลอยู่ และข้อมูลส่วนใหญ่ในสมัยนั้นก็เป็นไฟล์ขนาดเล็กๆ ไม่ได้ต้องการพื้นที่มากเหมือนสมัยนี้
ต่อมาการผลิต Hard Disk Drive ได้พัฒนาขึ้น ทำให้ hard disk มีราคาถูกลงมากจนสามารถซื้อมาใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้ แต่มันคือยุคเปลี่ยนผ่าน เพื่อที่จะให้การทำงานของเราราบรื่นขึ้น จึงเกิดเป็น Drive C ขึ้นมา
ด้วยความจุที่น้อยนิดของ Floppy Disk และ ราคาของ Hard disk ที่นับวันราคาต่อความจุจะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ความต้องการใช้ Floppy Disk นั้นลดลงเรื่อย ๆ รวมทั้ง OS และโปรแกรมต่าง ๆ ก็สามารถเก็บลงที่ Hard disk ได้โดยตรง ทำให้ Floppy disk นั้นทำหน้าที่เป็นแค่ตัวเก็บไฟล์งาน และข้อมูลที่จะย้ายไปใช้เครื่องอื่นเท่านั้น
หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา Floppy Disk ก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากพวกเราเรื่อย ๆ จนในที่สุดมันก็ไม่ได้อยู่บนคอมพิวเตอร์อีกต่อไป (เมนบอร์ดบางรุ่นก็ยังมี Port ของ Floppy อยู่) ดังนั้นระบบปฏิบัติการ Windows จึงได้สงวนอักษรไดรฟ์ A และ B ไว้สำหรับ Floppy ตลอดมาจวบจนปัจจุบัน