ปัจจุบันเรามีโซเชียลมีเดียมากมายให้เราได้ใช้งาน ทั้ง Facebook และ Instagram ที่ถือว่าเป็นแพลทฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ซึ่งเมื่อมีผู้ใช้งานมากก็ย่อมเป็นเหยื่อของ Scammer หรือนักต้มตุ๋นได้มากเช่นกัน
เรามารู้จักกับ Scammer และวิธีเอาตัวรอด
- Phishing Scams (กลลวงฟิชชิ่ง) กลลวงนี้จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ข้อมูลของเรา หลอกให้เราติดตั้งแอปเพิ่มเติม หรือนำเราไปยังเว็บไซต์ปลอมของธนาคารหรืออื่นๆ เพื่อให้เราใส่ข้อมูลของเราลงไป ซึ่ง Phishing Scams จะทำการส่งลิงก์ต่างๆ มาให้เรา
วิธีเอาตัวรอด : อย่ากดลิงก์โดยไม่มั่นใจ เช็ค URL ให้มั่นใจ หากเป็นเว็บเกี่ยวข้องกับการเงิน หากลิงก์ถูกแนบมากับอีเมล ลองวางเมาส์เหนือลิงก์ก็จะเห็นชื่อของลิงก์จริงๆ
- Romance Scams (กลลวงความรัก) เราพึ่งผ่านวันแห่งความรักกันมา หลายๆ คนอาจจะได้รับข้อความส่งตรงและคำขอเป็นเพื่อนจากคนแปลกหน้าใน Social Media หรือแอปหาคู่ ซึ่งพวกเขาไม่ได้จะส่งลิงก์ หรือให้เราดาวน์โหลดอะไร แต่จะเข้ามาตีสนิท มาคุยด้วย บอกว่าจะมาหาแต่อาจมีเงินไม่พอ หรือบอกว่า ต้องใช้เงินด่วน จากเหตุผลอะไรก็ตาม เพื่อขอให้เราโอนเงินให้ หากเราโอนไป เขาก็จะหายเข้ากลีบเมฆไปเลย
วิธีเอาตัวรอด : ต้องตั้งสติ อย่าหลวมตัวโอนเงินตาม Story ที่เขาแต่งขึ้น หากไม่มั่นใจ ก็กดบล็อคไปเลย
- Job offer Scams (กลลวงเสนองาน) เราอาจจะเห็นโฆษณาบ่อยๆ ที่อ้างถึงบริษัทดังๆ ว่าเปิดรับสมัครงาน ทำงานเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง แต่ได้ค่าตอบแทนหลายหมื่น เพียงกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในแบบฟอร์ม แน่นอนว่า เมื่อเราสนใจ เราก็จะให้ข้อมูลส่วนตัวไป ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลไปแล้ว เขาสามารถนำข้อมูลไปทำอะไรได้อีกมากมาย หรือบางทีก็จะมีงานให้ทำจริงๆ แต่พอทำเสร็จจะรับเงิน จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสุดแพง
วิธีเอาตัวรอด : อย่ากรอกข้อมูลสำคัญใดๆ ลงเว็บ โดยเฉพาะกับหมายเลขโทรศัพท์ เลขบัญชีธนาคาร หรือเลขบัตรประชาชน(โดยเฉพาะเลขหลังบัตรประชาชน)
- Fake investment Scams (กลลวงหลอกให้ลงทุน) ช่วงนี้ เราจะเจอบ่อยๆ เกี่ยวกับโฆษณาที่หลอกให้เราไปร่วมลงทุน ลงทุนหลักร้อยแต่ได้ผลตอบแทนหลักล้าน กลลวงเหล่านี้มักจะมีหน้าม้ามาสร้างภาพสุดหรู ถ่ายรูปคู่กับเงินก้อนโต รถหรู บ้านหลังใหญ่ สร้าง Story ให้ดูน่าเชื่อถือ มีหน้าม้ามา Comment ว่าทำแล้วได้จริง พร้อมข้อความปลุกใจปิดท้าย คุณก็ทำได้ แค่มาลงทุนกับเรา
วิธีเอาตัวรอด : คิดไว้เสมอว่า ถ้ามันลงทุนได้เงินง่ายขนาดนั้น ป่านนี้ไม่มีคนจนหรอก
- Charity Scams (กลลวงหลอกให้ทำบุญ) มักจะมาในช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า และในตอนนี้ที่มีสงครามรัสเซีย ยูเครนประทุขึ้น ที่หลอกให้โอนเงินไปช่วยเหลือทางยูเครน เป็นต้น หรือแม้แต่บอกว่าสอบติดแพทย์ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าเรียน มีคนโอนเงินให้เยอะมาก แต่มารู้ทีหลังว่า ฐานะบ้าน ไม่ได้ลำบากอะไรแม้แต่น้อย
วิธีเอาตัวรอด : ตรวจสอบว่าหน่วยงานที่มารับบริจาค เปิดรับบริจาคจริงไหม โดยไปดูข้อมูลที่เว็บไซต์ official ของเว็บนั้นๆ หรือถ้าอยากทำบุญจริงๆ แนะนำให้ทำตามสถานศึกษา ซึ่งในจุดนี้เงินถึงมือน้องๆ นักเรียนแน่นอน และที่สำคัญ ยังใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ด้วย