การเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหานั้น ไม่จำเป็นต้องใช้กับสถานการณ์ที่ซับซ้อนเสมอไป แต่ยังสามารถเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ เช่น นักเรียนอาจเขียนโปรแกรมเพื่อประมวลผลการฝากเงินออมทรัพย์ประจำวันของนักเรียน แทนที่จะต้องจดลงบนกระดาษ นักเรียนสามารถกลั่นกรองแนวคิดของตนเอง ออกแบบขั้นตอนวิธี และเขียนโปรแกรมเพื่อช่วยประมวลผล
ภาษาโปรแกรม
ภาษาโปรแกรม คือภาษาประดิษฐ์ชนิดหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน ออกแบบขึ้นมาเพื่อสื่อสารชุดคำสั่งแก่เครื่องจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอมพิวเตอร์ โดยภาษาโปรแกรมสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาเครื่องที่ประกอบด้วยเลข 0 และ 1
ในยุคเริ่มต้นภาษาโปรแกรมเป็นอุปสรรคต่อการเขียนโปรแกรมเป็นอย่างมาก จนมาถึงปัจจุบันภาษาโปรแกรมมีความคล้ายคลึงกับภาษาอังกฤษ ทำให้การเขียนโปรแกรมง่ายมากขึ้น แต่เนื่องจากคอมพิวเตอร์ยังคงต้องทำงานตามคำสั่งภาษาเครื่อง เมื่อเราเขียนโปรแกรมแล้ว จึงต้องมีการแปลให้เป็นภาษาเครื่องก่อน
ตัวแปลภาษา
อินเตอร์พรีเตอร์ (Interpreter) เป็นตัวแปลภาษาระดับสูงซึ่งแปลภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษามนุษย์ ไปเป็นภาษาเครื่อง โดยใช้หลักการแปลพร้อมกับงานตามคำสั่งทีละบรรทัดตลอดทั้งโปรแกรมทำให้การแก้ไขโปรแกรมทำได้ง่ายและรวดเร็ว ภาษาที่แปลแบบอินเตอร์พรีเตอร์ เช่น Python , LOGO
คอมไพเลอร์ (Compiler) เป็นตัวแปลภาษาระดับสูงเช่นเดียวกับอินเตอร์พรีเตอร์แต่จะใช้วิธีแปลคำสั่งทั้งโปรแกรมให้ถูกต้อง จึงจะได้ผลลัพธ์ของโปรแกรม ภาษาที่แปลแบบคอมไพเลอร์ เช่น C , C++ , JAVA
ปัจจุบันยังมีภาษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ในการสั่งงานคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่ใช้ในการกำหนดรูปแบบการแสดงผล หรือรูปแบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้เป็นมาตรฐานให้ใช้งานร่วมกันได้ เช่น HTML (HyperText Markup Language) , XML (Extensible Markup Language)
กิจกรรม
ให้นักเรียนสืบค้นภาษาโปรแกรม และนำเสนอให้เพื่อนๆ ในห้องเรียนได้รู้จัก