การประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล

0
178

        ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากสื่อต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น อีเมล บล็อก และโปรแกรมสนทนา  มีทั้งข้อมูลที่เชื่อถือได้และข้อมูลที่หลอกลวง ผู้รับข้อมูลต้องรู้จักใช้ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ ตรวจสอบ ประเมินความถูกต้องของข้อมูล โดยพิจารณาได้จากผู้เผยแพร่ วันที่เผยแพร่ และการอ้างอิงแหล่งข้อมูล การเลือกใช้แหล่งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือมีการบิดเบือน อาจทําให้ข้อสรุปที่ได้ผิดพลาดหรือชี้นําผิดทาง นอกจากนี้อาจทําให้เกิดอันตรายและสร้างความเสียหายในรูปแบบต่าง ๆ ได้ โดยหลักในการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล ควรพิจารณา ดังนี้

  • ความทันสมัยของข้อมูล (currency) ควรตรวจสอบว่าข้อมูลเผยแพร่เมื่อใด สำรวจและปรับปรุงเมื่อใด นอกจากนี้ในปัญหาที่สนใจ ควรตรวจสอบว่าสามารถใช้ข้อมูลที่เผยแพร่นานมาแล้วได้หรือไม่
  • ความสอดคล้องกับการใช้งาน (relevance) ควรตรวจสอบว่าข้อมูลเกี่ยวข้องกับปัญหาที่ต้องการหรือไม่
  • ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล (authority) พิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ผู้เผยแพร่มีความชำนาญพอที่จะให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวหรือไม่สามารถติดต่อผู้เผยแพร่ได้หรือไม่
  • ความถูกต้องแม่นยำ (accuracy) ตรวจสอบความถูกต้องพื้นฐานของข้อมูล ตรวจสอบว่ามีการนํา ข้อมูลไปอ้างอิงที่อื่น หรือไม่ หรือมีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของข้อมูลหรือไม่
  • จุดมุ่งหมายของแหล่งข้อมูล (purpose) ตรวจสอบว่าข้อมูลดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป้าหมายใด เช่น เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่เพื่อการโฆษณา หรือเพื่อการศึกษาอื่น ๆ

แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

        เมื่อเราต้องการข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่าง ๆ เราสามารถค้นหาข้อมูลได้จากแหล่งข้อมูลรอบตัวที่มีอยู่มากมาย และควรเลือกค้นหาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นแหล่งที่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างมีหลักเกณฑ์ มีเหตุผลและมีการอ้างอิง จึงให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง  ตัวอย่างแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้  มีดังนี้

1. เจ้าของข้อมูล  เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆสามารถให้ข้อมูลได้ถูกต้องตรงความเป็นจริงมากกว่าบุคคลอื่นที่รับฟังข้อมูลมาเล่าต่อ ซึ่งอาจจดจำมาผิด และอาจเสริมเติมแต่งทำให้ข้อมูลผิดเพื้ยนไปได้

2. หน่วยงานหรือผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นหน่วยงาน บุคคลที่ทำงานหรือศึกษาค้นคว้าในด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้มีความรู้จากประสบการณ์ในการทำงานหรือการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ลึกซึ้ง จึงมีข้อมูลที่ถูกต้องตรงความเป็นจริง

3. หน่วยงานของรัฐ เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ เนื่องจากข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐจะถูกนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย วางแผน ลงมือปฏิบัติงาน และใช้อ้างอิง จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องมีการรวบรวม เก็บรักษา หรือสร้างข้อมูลขึ้นอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงความเป็นจริงเสมอ


กิจกรรมฝึกทักษะ



อ้างอิง

Ariya “การเก็บรวบรวมและสำรวจข้อมูล” จากเว็บไซต์  http://kruariya.blogspot.com/2019/09/blog-post.html เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562

สุเมศ  ชาแท่น “การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล” จากเว็บไซต์ https://sites.google.com/ site/teacherreybanis1/ngan-xdirek-laea-khwam-samarth-phises/bth-thi-7-kar-trwc-sxb-khwam-na-cheux-thux-khxng-khxmul เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562