ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในหลายด้าน จึงมีการพัฒนา และสร้างเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเทคโนโลยีเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ไม่ว่าเป็นด้านการศึกษา การสื่อสาร การแพทย์ เป็นต้น แต่ถ้ามนุษย์นำเทคโนโลยีไปใช้ในทางไม่ดี เช่น สร้างบัญชีสังคมออนไลน์เพื่อหลอกขายสินค้า สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น สร้างขีปนาวุธ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดโทษอย่างร้ายแรง ซึ่งผลกระทบของเทคโนโลยีสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้ ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อมนุษย์และสังคม ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อเศรษฐกิจ และผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อมนุษย์และสังคม
เป็นที่รู้กันดีว่าในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน จนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ และทุก ๆ วันเทคโนโลยีก็ถูกพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง เทคโนโลยีเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคม ทำให้มนุษย์สามารถติดต่อถึงกันข้ามทวีปได้โดยใช้เวลาไม่ถึงนาที แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็อาจก่อให้เกิดโทษมหันต์ได้ถ้ามนุษย์นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น การโจรกรรมข้อมูล ลักลอบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลของธนาคารหรือโรงพยาบาล การสร้างขีปนาวุธและระเบิดนิวเคลียร์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดโทษอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากอันเป็นปัญหาที่เคยประสบมาแล้ว ดังนั้นจะเห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นเป็นสิ่งที่ยัง คงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ การดำรงชีวิตของมนุษย์ตราบใดที่ เรายังคงต้องพึ่งเทคโนโลยีอยู่ แต่ผลกระทบต่อมนุษย์ที่จะเกิดแก่มนุษย์นั้นจะร้าย ดี มาก น้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์ คิด ทำ และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้นั่นเอง
ผลกระทบด้านบวก
1. ช่วยส่งเสริมความสะดวกสบายของมนุษย์
เทคโนโลยีช่วยให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น ช่วยส่งเสริมให้มี ประสิทธิภาพในการทำงาน มีเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ให้ติดต่อกันได้สะดวก มีระบบคมนาคมขนส่งที่รวดเร็ว มีอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เช่น ลิฟต์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ
2.ช่วยทำให้การผลิตในอุตสาหกรรมดีขึ้น
การผลิตสินค้าในปัจจุบันต้องการผลิตสินค้าจำนวนมาก มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ซึ่งในปัจจุบันใช้เครื่องจักรทำงานอย่างอัตโนมัติ สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง สินค้าที่ได้มีคุณภาพและปริมาณพอเพียงกับความต้องการของผู้บริโภค ปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์ให้เข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์
3.ช่วยส่งเสริมให้เกิดการค้นคว้าวิจัยสิ่งใหม่
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ช่วยให้งานค้นคว้าวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยต่าง ๆ มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น คอมพิวเตอร์ช่วยงานคำนวณที่ซับซ้อน ซึ่งเมื่อก่อนยากที่จะทำได้ เช่น งานสำรวจทางด้านอวกาศ งานพัฒนาคิดค้นผลิตภัณฑ์และสารเคมีต่าง ๆ ทำให้ได้สูตรยา รักษาโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย
4.ช่วยส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
เทคโนโลยีทำให้กิจการด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ล้วนแล้ว แต่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการดำเนินการ ช่วยในการแปลผล มีเครื่องมือตรวจค้นหาโรคที่ทันสมัย หรือแม้แต่การผ่าตัดก็มีเครื่องมือช่วยในการผ่าตัดทำให้คนไข้ปลอดภัยยิ่งขึ้น
5.ช่วยส่งเสริมสติปัญญาของมนุษย์
คอมพิวเตอร์มีจุดเด่นที่สามารถทำงานได้รวดเร็ว มีความแม่นยำ สามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้มาก การแก้ปัญหาที่ ซับซ้อนบางอย่างกระทำได้ดี และรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีการนำคอมพิวเตอร์มาจำลองเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์หาทางศึกษาหรือแก้ไขปัญหา เช่น การจำลองสภาวะของสิ่งแวดล้อม การจำลองระบบมลภาวะ จำลองการไหลของของเหลว การควบคุมระบบการจราจร หรือแม้แต่การนำคอมพิวเตอร์มาจำลองในสภาพที่เสมือนจริง เช่น จำลองการเดินเรือ จำลองการขับเครื่องบิน การขับรถยนต์ เป็นต้น หากมีการผิดพลาดก็ไม่ทำให้เกิดอันตราย คอมพิวเตอร์จึงเป็นเครื่องมือ ที่ช่วยในการเรียนรู้ของมนุษย์ ปัจจุบันมีการนำบทเรียนมาไว้ในคอมพิวเตอร์เรียกว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction : CAI) และคอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่องมือให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ค้นหาข้อมูลข่าวสารผ่านทางเครือข่าย สามารถเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์หรือเรียนจากที่ห่างไกลได้ ถือเป็นหนทางที่ทำให้เกิดสติปัญญาอย่างแท้จริง
6.ช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
การสื่อสารโทรคมนาคมสมัยใหม่ช่วยย่อโลกให้เล็กลง โลกมีสภาพไร้พรมแดน มีการเรียนรู้วัฒนธรรมซึ่งกันและกันมากขึ้น เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ทำให้ลดปัญหาในเรื่องความขัดแย้ง สังคมไร้พรมแดนทำให้มีความเป็นอยู่แบบรวมกลุ่มประเทศมากขึ้น
7.ช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อกระจาย ข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย แม้แต่การเลือกตั้งก็มีการใช้คอมพิวเตอร์รวมผลคะแนน
ผลกระทบทางด้านลบ
1.ต่อสังคม เนื่องจากเป็นสังคมแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ต้องเห็นหน้ากัน จึงอาจเกิดการหลอกลวงกันได้
2. ต่อการเมืองการปกครอง เช่น มีการโจรกรรมข้อมูล ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อเศรษฐกิจ
เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยพัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดกิจการและงานต่าง ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน เมื่อครั้งที่ประเทศไทยมีศูนย์การค้าเปิดใหม่ ๆ ใครจะคิดว่าจะมีร้านขายเกมคอมพิวเตอร์ หรือร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือจำนวนมากอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ใครจะคิดว่าวิชาคอมพิวเตอร์จะกลายเป็นสาขาวิชาสำคัญที่ทุกโรงเรียน และทุกมหาวิทยาลัยต้องเปิดสอน ความเปลี่ยนแปลงนี้ยากที่จะคาดคะเนได้เมื่อสิบปีก่อน สำหรับผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อเศรษฐกิจพอสรุปได้ดังนี้
1. ผลกระทบในด้านการเงิน
การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในระบบงานธนาคารทำให้เกิดระบบออนไลน์ต่างสาขา และระบบเงินด่วน หรือเอทีเอ็ม (ATM) ในทัศนะของธนาคารนับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายและบุคลากรพร้อม ๆ กับเพิ่มอำนาจในการแข่งขันของธนาคารไปด้วย แต่ในด้านผู้เป็นลูกค้าแล้วปรากฏว่าความสะดวกนี้ไม่ใช่เฉพาะแต่ในด้านการฝากถอนเงินเท่านั้น หากยังสะดวกในด้านการจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย
2. ผลกระทบในด้านการดำเนินธุรกิจ
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้การทำธุรกิจสะดวกมากขึ้น บริษัทสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ส่งสินค้าและลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ผู้บริหารได้รับข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานได้รวดเร็วขึ้น และทำให้สามารถตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การขยายตัว การเลือกซื้อหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทที่รู้จักนำเอาเทคโนโลยีไปใช้มีผลกำไรมากขึ้น
3. ผลกระทบต่อการบริโภค
ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้เกิดผลิตภัณฑ์แปลกใหม่มากขึ้น ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้นและมีรูปร่างลักษณะที่น่าดึงดูดใจมากขึ้น ดังนั้นจึงมีผลทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนนิสัยและความเคยชินแบบ “อะไรก็ได้” ไปสู่การพินิจพิเคราะห์และเลือกสรรมากขึ้น หากผลิตภัณฑ์ใดไม่มีคุณภาพ หรือไม่ได้มาตรฐานพอก็จะไม่ได้รับความนิยม
ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาและการสร้างเทคโนโลยี ส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางดิน น้ำ อากาศ เสียง หรือการปนเปื้อนของสารพิษ
ในขณะเดียวกันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบำบัดของเสียจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม หรือภาคครัวเรือน เช่น เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น