ความหมายของกราฟิก

0
3361

กราฟิก (Graphic) มาจากภาษากรีก 2 คำคือ Graphikos หมายถึง การวาดเขียน และ Graphein หมายถึง การเขียน

ต่อมามีคนที่ให้ความหมายหรือคำจำกัดความของคำว่า “กราฟฟิก” ไว้มากมายหลายแบบด้วยกัน แต่หลักๆ ก็มีดังนี้
           – กราฟิก เป็นศิลปะแบบหนึ่งที่แสดงออกถึงความคิด ความอ่านและอารมณ์โดยใช้เส้น รูปภาพ ภาพเขียนหยาบๆ ไดอะแกรม ฯลฯ
           – กราฟิก เป็นการสื่อความหมายด้านการใช้ภาพวาด ภาพสเกต แผนภาพ การถ่ายภาพ และอื่นๆ ที่ต้องอาศัยศิลปะ เข้ามาช่วยเพื่อทำให้ผู้ดูเกิดความคิดและการตีความหมายได้ตรงตามที่ผู้ส่งสารต้องการ เช่น แผนภูมิ แผนภาพ ภาพโฆษณา การ์ตูน เป็นต้น
           – วัสดุที่เกิดจากการวาดและการเขียนงานออกแบบต่างๆ ในสิ่งที่เป็นวัตถุ 2 มิติ มีความกว้างและความยาวเท่ากัน อันได้แก่ งานสถาปนิกในการเขียนแปลนบ้าน การเขียนภาพเหมือนของจิตรกร การออกแบบโฆษณาของช่างออกแบบ
           – กราฟิก เป็นศิลปะหรือศาสตร์ในการเขียนภาพลายเส้น รวมไปถึงการพิมพ์ การแกะสลัก การถ่ายภาพ และการจัดทำหนังสือ

ดังนั้นสรุปได้ว่า กราฟิก นั้นหมายถึง ศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งใช้การสื่อความหมายด้วยการใช้เส้น ภาพวาด สัญลักษณ์ ภาพถ่าย กราฟ แผนภูมิ การ์ตูน ฯลฯ เพื่อให้สามารถสื่อความหมายของข้อมูลได้ถูกต้องตรงตามที่ผู้รับสารต้องการ


ความหมายของคอมพิวเตอร์กราฟิก

คอมพิวเตอร์กราฟิก หมายถึง การสร้าง การตกแต่ง แก้ไข หรือการจัดการเกี่ยวกับรูปภาพ โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการจัดการ เช่น การทำ  Image retouching ภาพคนแก่ให้มีวัยที่เด็กขึ้น การสร้างภาพตามจินตนาการและการใช้ภาพกราฟิกในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ เพื่อให้สามารถสื่อความหมายได้ตรงตามที่ผู้สื่อสารต้องการและน่าสนใจยิ่ง ขึ้นด้วยกราฟ แผนภูมิ แผนภาพ เป็นต้น


ภาพบนคอมพิวเตอร์เกิดได้อย่างไร

ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เราเห็นอยู่ทั่วไปนั้น เกิดจากจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆ ของสี ที่เราเรียกว่า พิกเซล(Pixel) มาประกอบกันเป็นภาพขนาดต่างๆ นั่นเอง

พิกเซล (Pixel) มาจากคำว่า Picture และคำว่า Element แปลตรงตัวก็คือ องค์ประกอบที่รวมกันเกิดเป็นภาพ ซึ่งสรุปก็หมายถึงจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เป็นองค์ประกอบรวมกันเป็นภาพความละเอียดของภาพ เป็นจำนวนของพิกเซลที่อยู่ภายในภาพ โดยใช้หน่วยวัดเป็นพิกเซลต่อนิ้ว (ppi : Pixel per Inch) เช่น 300 ppi  หรือ 600 ppi เป็นต้น ภาพที่มีความละเอียดมากก็จะมีความชัดกว่าภาพที่มีความละเอียดน้อย

ความละเอียดของจอภาพ เป็นหน่วยที่ใช้วัดจำนวนพิกเซลสูงสุดที่จอคอมพิวเตอร์สามารถผลิตออกมาได้ ซึ่งความละเอียดของจอภาพนั้น เกิดขึ้นโดยการ์ดจอหรือหน่วยแสดงผลภาพ และควบคุมการทำงานด้วยซอฟท์แวร์บน Windows ดังนั้นเราสามารถตั้งค่าการแสดงความละเอียดของจอภาพบน Windows ได้ เช่น ความละเอียด 1024×768 หมายถึง จำนวนพิกเซลในแนวนอน 1024 พิกเซลและจำนวนวีดีโอพิกเซลในแนวตั้ง 768 พิกเซล

ภาพที่เกิดบนจอภาพเกิดจากการทำงานของโหมดสี RGB ซึ่งประกอบด้วย สีแดง(Red) สีเขียว(Green) และสีน้ำเงิน(Blue)  โดยใช้หลักการยิงประจุไฟฟ้าให้เกิดการเปล่งแสงของสีทั้ง 3 สีมาผสมกันทำให้เกิดเป็นจุดสีสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เรียกว่า พิกเซล (Pixel) ซึ่งมาจากคำว่า  Picture  กับ Element โดยพิกเซลจะมีหลากหลายสี  เมื่อนำมาวางต่อกันจะเกิดเป็นรูปภาพ ซึ่งภาพที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์มี 2 ประเภท คือ แบบ Bitmap และแบบ  Vector

ภาพบิตแมป (Bitmap) เป็นภาพแบบ Resolution Dependent ประกอบขึ้นด้วยจุดสีต่างๆ ที่มีจำนวนคงที่ตายตัวตามการสร้างภาพที่มี Resolution หรือความละเอียดของภาพต่างกันไป หากขยายภาพ Bitmap จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นตารางเล็กๆ

ภาพแว็กเตอร์ (Vecter) เป็นภาพประเภท Resolution-Independent มีลักษณะของการสร้างให้แต่ละส่วนเป็นอิสระต่อกัน โดยแยกชิ้นส่วนของภาพทั้งหมดออกเป็นเส้นตรง รูปทรงหรือส่วนโค้ง โดยอ้างอิงตามความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์หรือการคำนวณเป็นตัวสร้างภาพ เป็นการรวมเอา Object (เช่น วงกลม เส้นตรง ทรงกลม ลูกบาศก์และอื่นๆ เรียกว่ารูปทรงพื้นฐาน) ต่างชนิดมาผสมกัน มีทิศทางการลากเส้นไปในแนวต่างๆ เพื่อสร้างภาพที่แตกต่างกันโดยใช้คำสั่งง่ายๆ จึงเรียกภาพประเภทนี้ว่า Vector Graphic


ความแตกต่างระหว่างกราฟิกแบบ Bitmap และ Vector

ภาพบิตแมป (Bitmap)ภาพแว็กเตอร์ (Vecter)
 1. ลักษณะภาพประกอบขึ้นด้วยจุดต่างๆ มากมาย 1. ใช้สมการทางคณิตศาสตร์เป็นตัวสร้างภาพ โดยรวมเอา Object (เช่น วงกลม เส้นตรง) ต่างชนิดมาผสมกัน
 2. ภาพมีจำนวนพิกเซลคงที่จึงต้องการค่าความละเอียดมากขึ้นเมื่อขยายภาพ โดยจะคำนวณค่าสีทีละ pixels ทำให้ภาพแตกเมื่อขยายภาพให้ใหญ่ 2. สามารถย่อและขยายขนาดได้มากกว่า โดยสัดส่วนและลักษณะของภาพยังเหมือนเดิม ความละเอียดของภาพไม่เปลี่ยนแปลง
 3. เหมาะสำหรับงานกราฟิก ในแบบต้องการให้แสงเงาในรายละเอียด 3. เหมาะสำหรับงานแบบวาง Layout งานพิมพ์ตัวอักษร Line Art หรือ Illustration
 4. แสดงภาพบนจอทันที เมื่อรับคำสั่งย้ายข้อมูลจากหน่วยความจำที่เก็บภาพไปยังหน่วยความจำของจอภาพ 4. คอมพิวเตอร์จะใช้เวลาในการแสดงภาพมากกว่า เนื่องจากต้องทำตามคำสั่งที่มีจำนวนมากกว่า


ประเภทของไฟล์ภาพดิจิตอล

.JPG เป็นไฟล์ที่มีการบันทึกข้อมูลแบบสูญเสียข้อมูล ภาพที่ได้นำมาใช้งานทั่วๆ ไป ไฟล์ประเภทนี้จะตัดรายละเอียดของภาพบางส่วนออก ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ไม่สามารถมองเห็นสีได้มากนัก เหมาะสำหรับเก็บไว้ดูหรือนำไปลงอินเทอร์เน็ต


.GIF เป็นไฟล์ที่มีการบีบอัดข้อมูลสูง แต่จะให้ความละเอียดของภาพมากกว่า ทำให้ไฟล์มีขนาดเล็กมาก มักนำมาใช้งานบนอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เพราะไฟล์ที่มีขนาดเล็กทำให้ไม่เสียเวลาในการเปิดหน้าเว็บไซต์ที่มีรูปภาพประกอบได้ในเวลาอันรวดเร็ว


.TIF เป็นไฟล์ที่ใช้สำหรับงานสิ่งพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ สามารถแสดงผลความละเอียดของภาพได้ทุกระดับตั้งแต่ภาพขาวดำไปจนถึงภาพสี ซึ่งจะนำไปใช้กับงานทางด้านการพิมพ์ สามารถใช้ได้กับทั้งเครื่อง MAC และ PC โปรแกรมที่ใช้ ตัวอย่างเช่น PageMaker


.PNG ย่อมาจาก Portable Network Graphics ซึ่งเป็นรูปแบบของไฟล์รูปภาพที่ถูกพัฒนามาเพื่อใช้สำหรับการแสดงผลบนเว็บไซต์โดยเฉพาะ และเพื่อใช้แทนรูปแบบของไฟล์ GIF เป็นไฟล์ที่มีความยืดหยุ่นสูง ใช้งานได้กับเครื่องที่มีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการทำงาน และสามารถทำงานอยู่บนคนละระบบปฏิบัติการ เช่น Linux และ Windows จะเห็นได้ว่าไฟล์แต่ละประเภทนั้นมีลักษณะการทำงานและการบีบอัดไฟล์ที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการนำมาใช้งานและความต้องการของผู้ใช้งานว่าต้องการไฟล์แบบใด


.PSD เป็นไฟล์ที่เกิดจากโปรแกรมตกแต่งรูปภาพคือ Photoshop ไฟล์ประเภทสามารถแก้ไขได้ง่าย เพราะมีการทำงานเป็นเลเยอร์ มีข้อจำกัดคือมีไฟล์ขนาดใหญ่ และสามารถเปิดได้กับโปรแกรม Photoshop อย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปเปิดกับโปรแกรมจัดการรูปภาพอื่น ๆ ได้



อ้างอิง :          

           องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. “พิกเซล (Pixel)”. http://122.155.162.144/nsm2009/it/index.php?option=com_content&view=article&id=241%3A-pixel&catid=24%3Acomputer&Itemid=35&lang=th . 2556. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2558

           ทีมงานทรูปลูกปัญญา. “ความเป็นมาและความหมายของงานกราฟิก “. http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/366-00/ . 2552. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2558

           จารุณี ขันใจ. “กราฟิกและเว็บไซต์”. https://docs.google.com/document/d/1-4wFGUfMMFv3sc9NzpK5pBdqOzOkGMbCkI_LQoKEKSM/edit . สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2558

           sangrawee. “การใช้โปรแกรมกราฟิก”. http://sangrawee1366.blogspot.com/p/1.html . 2553. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2558

           กฤติยา พลหาญ. “ความหมายของคอมพิวเตอร์กราฟิก “. http://www.krukikz.com/index.php?option=com_content&view=article&id=132&Itemid=180 . สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2558

           วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “อะโดบี โฟโตชอป”. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%9A%E0%B8%B5_%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9B0 . 2558. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2558

           ปิยะ  นาคสงค์. สร้างและตกแต่งภาพกราฟิกด้วย Photoshop CS2 ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : Success Media Co.,Ltd. 2549

           กรวีร์  เจริญดี. “กล่องเครื่องมือ (Toolbox)”. http://krukorawee.com/photoshopcs3/unit1.3.html . สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2558