เทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อมโยงทุกสิ่งรอบตัวให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ทำให้ชีวิตเราดำเนินได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่หากใช้งานอย่างไม่ระมัดระวังอาจเกิดผลกระทบต่อผู้ใช้งานได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการใช้ให้เกิดประโยชน์ มีมารยาท มีความรับผิดชอบ ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สร้างความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น
แนวทางปฏิบัติเมื่อพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
1. ปฏิเสธการรับข้อมูล โดยไม่เปิดดู ไม่บันทึก และไม่กดไลค์ (Like)
2. ไม่ส่งต่อ ไม่แชร์ ไม่เผยแพร่ เพราะนอกจะกระจายข้อมูลที่ไม่เป็นจริงแล้ว ยังอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
3. แจ้งครูหรือผู้ปกครอง
4. แจ้งผู้เกี่ยวข้องที่ดูแลเว็บไซต์นั้น
5. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลระบบไม่จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น
แนวทางการพิจารณาเนื้อหาก่อนเผยแพร่ข้อมูล
1. ความเป็นส่วนตัว ต้องเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลว่าข้อมูลนั้นเกี่ยวกับใคร สามารถเปิดเผยต่อผู้อื่นได้หรือไม่
2. ความถูกต้อง ข้อมูลที่ใช้มีความถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือ และต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของข้อมูล ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อน
3. ทรัพย์สินหรือความเป็นเจ้าของ ต้องรู้ว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูล มีความสำคัญหรือมูลค่ามากน้อยเพียงใด ให้ความเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น
4. การเข้าถึง เป็นการระบุให้บุคคลหรือองค์กรใดมีสิทธิ์ในการเข้าถึง
การสร้างและแสดงความเป็นเจ้าของผลงาน
ข้อมูลและสารสนเทศในรูปแบบเอกสาร รูปภาพ หรือวิดีทิศน์ นับว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญหาประเภทหนึ่งที่เจ้าของสามารถแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ เช่น การใส่ชื่อ การระบุสัญลักษณ์ การใส่ลายน้ำ เป็นต้น
มารยาทในการติดต่อสื่อสาร
1. มารยาทในการใช้อีเมล
– ใช้ภาษาสุภาพ ชัดเจน ตรงประเด็น เหมาะสมกับกาลเทศะ
– ใช้อักษรตัวหน้าเฉพาะข้อความที่ต้องการเน้นเท่านั้น
– ระบุหัวเรื่อง ชื่อผู้ส่งให้ชัดเจน
– เนื้อหาไม่ไปในทางที่เสื่อมเสีย
– หลีกเลี่ยงการแนบไฟล์ขนาดใหญ่ ควรใช้การส่งลิงก์แทน
– ไม่ลักลอบส่งอีเมลโดยการปลอมแปลงชื่อผู้ส่งคนอื่น
– ไม่ส่งต่ออีเมลลูกโซ่ (เป็นอีเมลที่ระบุว่าต้องส่งให้ครบ xx คนแล้วจะโชคดี)
– ไม่ส่งอีเมลขายสินค้า โฆษณา หรือข้อความก่อกวนผู้รับ
2. มารยาทในการใช้แชทหรือเครือข่ายสังคม
– ไม่ใช้ข้อความที่เป็นชนวนก่อให้เกิดปัญหาระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม
– หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์
– ไม่สวมรอยหรือแอบอ้างเป็นผู้อื่น