กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และลิขสิทธิ์

0
3647

กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

การออกข้อกำหนด ระเบียบ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประเทศไทยมีการออกพระราชบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และปรับปรุงมีความทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ โดยรายละเอียดสามารถศึกษาได้จาก 

พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

หมวด ๑ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง ถ้าเราแอบเข้าสู่ระบบใน facebook ของเพื่อน โดยที่เพื่อนไม่อนุญาต ก็จะมีความผิดตามมาตรา ๗

มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง จากตัวอย่างใน มาตรา ๗ ถ้าเรานำ username และ password ไปเผยแพร่ต่อก็จะมีความผิดตามมาตรา ๘

มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตัวอย่าง จากตัวอย่าง มาตรา ๗ ถ้าเข้าไปแล้ว เราไปแก้ไขข้อมูล อาทิ รูปโปรไฟล์ วันเดือนปีเกิด อีเมล หรืออื่นๆ ก็จะมีความผิดตามมาตรา ๙

มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ตัวอย่าง อีเมลสแปม ต่างๆ ผู้ส่งจะมีความผิดตามมาตรา ๑๑ (แต่ทำไมยังส่งกันเยอะแยะไปหมด)

มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐

(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลัง   และไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์  หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะหรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือ บุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

ตัวอย่าง การตัดต่อภาพของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วนำไปเผยแพร่ จะมีความผิดตามมาตรา ๑๖

มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ

(๑) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ

(๒) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษจะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร


การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม

“ลิขสิทธิ์ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน”

ผู้ใดต้องการใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ (copyright) ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงาน เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครอง แต่ก็มีข้อยกเว้นให้ใช้งานได้บางอย่างโดยไม่ต้องขออนุญาต หรือที่เรียกว่า การใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) เช่น ใช้ในการเรียนการสอน การรายงานข่าว แต่ต้องไม่กระทบกับเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยมีหลักพิจารณาดังนี้

วัตถุประสงค์และลักษณะการใช้งานลิขสิทธิ์ ผู้นำไปใช้ต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าหรือหากำไร ไม่มีเจตนาทุจริต ใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคม

ลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ ผู้นำไปใช้ต้องพิจารณาจากความพยายามที่ใช้สร้างสรรค์ผลงาน หากผลงานใดที่ใช้ความพยายามสูงในการสร้างสรรค์ ไม่ควรนำผลงานนั้นไปใช้ เช่น นวนิยาย, การรายงานเหตุการณ์ที่เฉพาะ

ปริมาณของการนำไปใช้ ต้องนำผลงานไปใช้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป หรือแม้ใช้ปริมาณน้อยแต่เป็นจุดสำคัญ ถือเป็นการใช้งานที่ไม่เป็นธรรม

ผลกระทบต่อตลาดหรือมูลค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโชน์ตามปกติของเจ้าของผลงาน เพราะอาจทำให้ผลงานนั้นขายไม่ได้

ตัวอย่างการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม


ตัวอย่างการใช้งานลิขสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรม


อ้างอิง : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, “เทคโนโลยี(วิทยาการคำนวณ)”, โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562 หน้า 121