ข้อมูลเป็นทรัพย์สินที่มีค่า มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างแพร่หลาย เราทุกคนต่างเป็นผู้ผลิตและผู้ใช้ข้อมูลในเวลาเดียว เมื่อเรามองสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว จะพบว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ข้อมูล
ข้อมูล (Data) หมายถึง ข้อเท็จจริง หรือสิ่งที่ถือ หรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง สำหรับใช้เป็นหลักอนุมานหาความจริงหรือการคำนวณ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554)
องค์ประกอบของข้อมูล
1. ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data) คือข้อมูลที่สามารถวัด หรือนับได้ทั้งสิ้นทั้งปวง เช่น อายุ, น้ำหนัก, ส่วนสูง
2. ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) อยู่ในรูปข้อความ อธิบายความหมาย บรรยายความคิดเห็น ความรู้สึก บทสัมภาษณ์
แหล่งข้อมูล
1. ข้อมูลปฐมภูมิ หมายถึง ข้อมูลที่ได้จากการเก็บรวบรวมหรือบันทึกจากแหล่งข้อมูลโดยตรง ซึ่งอาจจะได้สอบถาม การสัมภาษณ์ การสำรวจ การจดบันทึก ตลอดจนการจัดหามาด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติต่างๆที่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลให้ได้ เช่น เครื่องอ่านรหัสแท่ง เครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก ข้อมูลปฐมภูมิจึงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ได้มาจากจุดกำเนิดของข้อมูลนั้นๆ
2. ข้อมูลทุติยภูมิ หมายถึง ข้อมูลที่มีผู้อื่นรวบรวมให้แล้ว บางครั้งอาจจะมีการประมวลผล เพื่อเป็นสารสนเทศผู้ใช้ข้อมูลไม่จำเป็นต้องไปสำรวจเอง ดังตัวอย่างข้อมูลสถิติต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐบาลทำไว้แล้ว เช่น สถิติจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด สถิติการส่งออกสินค้า สถิติการนำเสนอสินค้า ข้อมูลเหล่านนี้มีการตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้ใช้งานได้หรือนำเอาไปประมวลผลต่อ
การรวบรวมข้อมูล
1. การสัมภาษณ์ (interview) เป็นวิธีการที่ส่งเจ้าหน้าที่หรือพนักงานออกไปสัมภาษณ์ผู้ให้คำตอบ และบันทึกคำตอบลงในแบบสอบถาม วิธีนี้นิยมใช้กันมากในการทำสำมะโนและสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาพการณ์ของประเทศไทย เป็นวิธีการที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่ละเอียด พนักงานสัมภาษณ์สามารถชี้แจงหรืออธิบายให้ ผู้ตอบเข้าใจในคำถามได้ ทำให้ได้รับคำตอบตรงตามวัตถุประสงค์ แต่การที่จะให้ได้คำตอบที่ดี ก็ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น วิสัยสามารถของผู้ตอบที่จะเข้าใจคำถาม ความตั้งใจของผู้ตอบและความสุจริตใจที่จะให้คำตอบ ความสามารถของพนักงาน ที่จะสัมภาษณ์ได้อย่างละเอียดครบถ้วน และบันทึกคำตอบอย่างถูกต้อง และที่สำคัญที่สุดคือ ความซื่อสัตย์สุจริตของพนักงานสัมภาษณ์ที่จะไม่กรอกข้อมูลเอง ซึ่งในทางปฏิบัติก่อนที่จะส่งเจ้าหน้าที่หรือพนักงานออกไปปฏิบัติงาน จะต้องทำการอบรมชี้แจงให้เข้าใจถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์ ตลอดจนวัตถุประสงค์ของโครงการ คำจำกัดความหรือความหมายของคำต่างๆ ที่ใช้ในแบบสอบถาม การกรอกแบบสอบถาม ซึ่งรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ ได้กำหนดไว้ในคู่มือการปฏิบัติงานเก็บรวบรวมข้อมูล
2. การสังเกตการณ์ (Observation) เป็นวิธีเก็บข้อมูลโดยการสังเกตโดยตรงจากปฏิกิริยา ท่าทาง หรือเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นในขณะใดขณะหนึ่ง และจดบันทึกไว้โดยไม่มีการสัมภาษณ์ วิธีนี้ใช้กันอย่างกว้างขวางในการวิจัย เช่น จะศึกษาดูปฏิกิริยาของผู้ขับรถยนต์บนท้องถนนภายใต้ สภาพการณ์จราจรต่าง ๆ กัน ก็อาจจะส่งเจ้าหน้าที่ไปยืนสังเกตการณ์ได้ การสังเกตจำนวนลูกค้าและบันทึกปริมาณการขายของสถานประกอบการ โดยพนักงานเก็บภาษีของกรมสรรพากร เพราะการไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการถึงปริมาณการขาย ย่อมไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง
3. การสำรวจ (Survey) ทำโดยสร้างแบบสำรวจที่กำหนดคำถามเพื่อค้นหาข้อมูล หรือความเห็นที่ต้องการ
4. การทดลอง (Experiment) เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการทดลอง หรือการทดสอบที่มีการควบคุมปัจจัยบางประการ
5. การทบทวนเอกสาร (Document) เป็นการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร รายงาน บทความ หรือแบบฟอร์มสำหรับรวบรวมข้อมูล
6. การสำมะโน (Census) เป็นการรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจจากประชากรเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนด เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติได้มีการสำมะโนประชากรและเคหะ
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการรวบรวมข้อมูล
การประมวลผลข้อมูล
การประมวลผลข้อมูล (Data Processing) หมายถึง กระบวนการที่กระทำกับข้อมูลที่รวบรวมไว้ เพื่อให้ได้ข้อมูล หรือสารสนเทศที่อยู่ในรูปแบบที่ต้องการนำไปใช้
รูปแบบในกระบวนการประมวลผลข้อมูลในปัจจุบัน เป็นการประมวลผลด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เราเรียกข้อมูลที่นำเข้าสู่การประมวลว่า “ข้อมูลเข้า (Input)” และเรียกสิ่งที่ได้จากการประมวลผล (Process) ว่า “ข้อมูลออก (Output)”
การสร้างทางเลือกเพื่อตัดสินใจ
การตัดสินใจจะเกิดขึ้นเมื่อมีหลายทางเลือก และแต่ละทางเลือกจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ การตัดสินใจเป็นการประมวลผลอย่างหนึ่งที่ใช้การวิเคราะห์เชิงตรรกะในการประเมินผลลัพธ์ ว่าทางเลือกใดสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้อย่างเหมาะสมที่สุด
ขั้นตอนการตัดสินใจ
1. กำหนดเป้าหมายของการตัดสินใจ
2. รวบรวมข้อมูลและความรู้ที่เกี่ยวข้อง
3. กำหนดทางเลือกทั้งหมดที่เป็นไปได้
4. ประเมินทุกทางเลือก โดยใช้การวิเคราะห์เชิงตรรกะ
5. ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม
กิจกรรม
1. ถ้านักเรียนมีเงิน 50 บาท ต้องการรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งประกอบด้วยอาหารหลัก และขนมหวาน ให้นักเรียนออกแบบรายการอาหารอย่างน้อย 3 เมนู ยกตัวอย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยวหมู (25 บาท) + น้ำปั่นรสส้ม (15 บาท)
2. จากรายการอาหารที่นักเรียนออกแบบไว้ นักเรียนจะเลือกรับประทานเมนูไหน เพราะเหตุใด